โพลล์นักเศรษฐศาสตร์คาด GDP ปี 54 โต 5% ศก.โลก-การเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง เรื่อง "คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2554" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.9% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5.0%

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2554 คือ อันดับ 1 นักเศรษฐศาสตร์ 67.6% ระบุว่าเป็นปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อันดับ 2 นักเศรษฐศาสตร์ 64.8% ระบุว่า เป็นปัญหาการเมือง/การชุมนุมประท้วง/เสถียรภาพของรัฐบาล และอันดับ 3 นักเศรษฐศาสตร์ 59.2% ระบุว่าเป็นปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทแข็งค่า/สงครามค่าเงิน/ค่าเงินหยวน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 54 นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะอยู่ที่ 3.7% การส่งออกจะขยายตัว 14.6% ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ 29.10 บาท/ดอลลาร์ฯ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีหน้า จะอยู่ที่ 90.3 ดอลลาร์/บาร์เรล

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นักเศรษฐศาสตร์ถึง 76.1% เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันไปสู่ระดับ 2.75% ได้ภายในสิ้นปี 2554 และด้านการเคลื่อนไหวของ SET Index นักเศรษฐศาสตร์ 62% เชื่อว่าดัชนียังคงมีทิศทางขาขึ้นโดยจุดสูงสุดของปีจะอยู่ที่ 1,150 จุด และจุดต่ำสุดของปีจะอยู่ที่ 900 จุด

สำหรับข้อเสนอที่นักเศรษฐศาสตร์ต่อรัฐบาล/หน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจปี 2554 คือ 1.รักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้นโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา 2.ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกด้วยการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ดูแลการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม

3. แก้ปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงไม่ควรใช้นโยบายประชานิยมจนเกินไป แต่ควรเน้นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ และเป็นนโยบายที่มีความยั่งยืน และ 4.รีบลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 26 แห่ง รวม 71 คน ระยะเวลาในการสำรวจตั้งแต่วันที่ 9-15 ธ.ค.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ