นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2554 หน่วยงานต่างๆ ได้จัดทำแผนงาน/โครงการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย ไว้เป็นเงิน 205.26 ล้านบาท แบ่งออกเป็น กลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพการผลิต 97.44 ล้านบาท กลยุทธ์พัฒนาตลาดภายในประเทศ 80.01 ล้านบาท กลยุทธ์พัฒนาตลาดส่งออก 27.80 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์การผลิตไม้ผลปี 2554 ในช่วงแรกของการเพาะปลูก พบว่า ทุเรียน มีพื้นที่ยืนต้นลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะนี้อยู่ในช่วงออกดอกแล้วประมาณ 34% คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายน 2554 ส่วนเงาะอยู่ในช่วงเริ่มออกดอกประมาณ 1% และพื้นที่ยืนต้นลดลงเนื่องจากมีการหันไปปลูกกล้วยไข่ ยางพารา และปาล์มน้ำมันมากขึ้น ส่วนมังคุดและลองกอง จะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2553
นอกจากนั้น ยังได้มีการวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ปี 2554 โดยเบื้องต้นได้วางมาตรการดำเนินงานทั้งสิ้น 6 มาตรการ เพื่อจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมและขอสนับสนุนการ คณะกรรมการกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ต่อไป คือ
1. มาตรการพัฒนาคุณภาพ ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อรักษาคุณภาพและความสดจนถึงมือผู้บริโภค
2. มาตรการกระจายผลผลิตภายในประเทศ เน้นการหาตลาดล่วงหน้า
3. มาตรการส่งเสริมการแปรรูป
4. มาตรการผลักดันส่งออก
5. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ
6. มาตรการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลไม้ในต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านการผลิต จะบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งดูแลเรื่องการตลาด รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการผลไม้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับในปี 2553 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2553-2557 ที่กำหนดวงเงินงบประมาณไว้รวม 287.25 ล้านบาท มีหน่วยงานต่างๆ ตั้งงบประมาณสนับสนุนยุทธศาสตร์ฯ จำนวน 131.75 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.6 เพื่อดำเนินงานใน 3 กลยุทธ์ คือ การพัฒนาศักยภาพการผลิต 55.47 ล้านบาท การพัฒนาตลาดภายในประเทศ 53.14 ล้านบาท และการพัฒนาตลาดส่งออก 23.12 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพการผลิต ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 55,472,356 บาท อันได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้งบประมาณ 3,882,000 บาท กรมวิชาการเกษตร ใช้งบประมาณ 3,771,239 บาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ใช้งบประมาณ 1,088,587 บาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ ใช้งบประมาณ 1,500,000 บาท และการดำเนินงานในระดับพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ใช้งบประมาณ 45,230,530 บาท
กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาตลาดภายในประเทศ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 53,147,454 บาท ได้แก่ กรมการค้าภายใน ใช้งบประมาณ 25,000,000 บาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ ใช้งบประมาณ 3,340,900 บาท กรมประชาสัมพันธ์ ใช้งบประมาณ1,3000,000 บาท และการดำเนินงานในระดับพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ใช้งบประมาณ 24,806,554 บาท
กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาตลาดส่งออก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 23,121,300 บาท ได้แก่ กรมส่งเสริมการส่งออก ใช้งบประมาณ 21,121,3000 บาท และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ใช้งบประมาณ 2,000,000 บาท
นอกจากนั้น ยังได้รับงบประมาณจากคณะกรรมการกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในโครงการบริหารจัดการผลไม้ปี 2553 รวม 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก เป้าหมาย 45,000 ตัน ดำเนินการได้ 35,854 ตัน คิดเป็นร้อยละ 79.66 วงเงินจ่ายขาด 116.72 ล้านบาท ใช้ไป 91.42 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.32
2.โครงการบริหารจัดการลิ้นจี่ เป้าหมาย 23,630 ตัน ดำเนินการได้ 16,577 ตัน คิดเป็นร้อยละ 70.15 วงเงินจ่ายขาด 49.16 ล้านบาท ใช้ไป 34.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.47 วงเงินกู้ 7.50 ล้านบาท ใช้ไป 4.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60
3.โครงการบริหารจัดการลำไย เป้าหมาย 138,000 ตัน ดำเนินการได้ 78,386 ตัน คิดเป็นร้อยละ 56.80 วงเงินรวม 137.68 ล้านบาท ใช้ไป 134.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.90
4.โครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ซึ่งมีเป้าหมาย 90,933 ตันนั้นได้ดำเนินการไปได้ 18,770 ตัน คิดเป็นร้อยละ 20.64 ของเป้าหมาย และจากวงเงินรวม 270.66 ล้านบาท ได้ใช้ไป 26.57 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.82 ของงบประมาณ