(เพิ่มเติม) กบง.อนุมัติใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนดีเซล มีผลลดราคา 30 สต./ลิตรพรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้จัดสรรเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้อุดหนุนน้ำมันดีเซลในอัตรา 50 สตางค์(สต.)/ลิตร โดยในส่วนของดีเซล B3 เป็นการปรับลดการเรียกเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯ จำนวน 15 สต./ลิตร และเพิ่มการชดเชยเข้าไปอีก 35 สต./ลิตร ส่วนดีเซล B5 เพิ่มการชดเชยอีก 50สต./ลิตร จากเดิมที่มีการชดเชยไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 50 สต./ลิตร รวมเป็นชดเชย 1 บาท/ลิตร ทั้งนี้ส่งผลให้ราคาขายปลีกราคาน้ำมันดีเซลในวันพรุ่งนี้(17 ธ.ค.) ลดลง 30 สต./ลิตร

โดยกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ขออนุมัติเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่า 30 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม "การชดเชยราคาน้ำมันดีเซล บี3 และบี5 จะทำให้มีเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น จาก 537 ล้านบาท/เดือน เป็น 1,257 ล้านบาท/เดือน จากปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินสะสมสุทธิ 27,617 ล้านบาท โดยคาดว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถรับภาระได้ 3-4 เดือน หากราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน ที่ 89-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94-95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กองทุนฯจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 2,600 ล้านบาท และหากขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กองทุนฯ จะมีภาระเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านบาท/เดือน" รมว.พลังงาน กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมรัฐบาลใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาน้ำมัน ทำให้กองทุนนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระสูงถึง 92,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้ถูกนำมาใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลหมดแล้ว จะต้องพิจารณาหามาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม เนื่องจากกองทุนฯ ต้องรักษาสภาพคล่องไว้ใช้ในอนาคต เพราะไม่สามารถคาดเดาราคาน้ำมันได้ และที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคยเพิ่มขึ้นสูงถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ส่วนแนวคิดการนำค่าภาคหลวงปิโตรเลียม มาจ่ายชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายจากนายกรัฐมนตรี และหากจะมีการนำมาใช้จริง จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งต้องใช้เวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ