นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลจีนแสดงความสนใจที่จะร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเปซาร์ ซึ่งเป็นการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นจากกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อให้โครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อจากจีน-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว-ไทย-มาเลเซีย ขณะที่ทางประเทศญี่ปุ่นแสดงความสนใจในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
ปัจจุบัน ไทยและจีนอยู่ระหว่างการจัดทำร่างความร่วมมือก่อนที่จะลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อทำให้ความร่วมมือดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลมีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ และไทยก็มีจุดแข็งเรื่องที่ดินในเขตทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งสามารถใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการได้
ส่วนที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงสาเหตุที่รัฐบาลต้องเลือกความร่วมมือจากจีนนั้น นายโสภณ กล่าวว่า เนื่องจากจีนได้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านมายังลาว และจะเชื่อมต่อไทยที่ จ.หนองคาย โดยความร่วมมือนี้จะอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนประเทศอื่นที่สนใจก็ยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางอื่นให้ลงทุนอีก
ด้านนายกวน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศจีนพัฒนารถไฟความเร็วสูงภายในประเทศรวมระยะทางที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 7,500 กิโลเมตร โดยใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4-5 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก เพราะหากพัฒนาช้าจะทำให้เสียโอกาส และหากจีน-ไทยลงนามความร่วมมือได้เชื่อว่าราคาที่ดินตลอดแนวเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-หนองคายจะปรับเพิ่มขึ้นทันที
ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในลาว และไทยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี โดยเส้นทางที่ผ่านลาวนั้นต้องผ่านอุโมงค์ประมาณ 70% ของแนวเส้นทาง ส่วนประเทศไทยนั้นค่อนข้างง่ายกว่าเพราะไม่ต้องผ่านภูเขาหรือต้องเจาะอุโมงค์ โดยระยะแรกนั้นรถไฟความเร็วสูงจะใช้รองรับการขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก แต่จะเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าด้วย และหากประเทศต่างๆ พัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นระบบเดียวกันจะส่งผลดีต่อภาพรวม เพราะระบบรถไฟจะเชื่อมต่อกันได้สะดวก