นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวในการรายงาน"แผนปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ"ต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงเย็นวันนี้ว่า ในวันที่ 9 ม.ค.จะมีการประมวลสังเคราะห์ และมีการประกาศอย่างชัดเจน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ส่วนในวันที่ 20 ม.ค.แผนฉบับสมบูรณ์จะเริ่มเดินหน้าได้ ซึ่งในแผนงานจะมีการระบุหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน รวมถึงกรอบเวลาในการดำเนินการ
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ประเมินผลของโครงการในแง่ที่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งน่าจะมีผลดีต่อจีดีพีไม่มากก็น้อย และไม่มีภาระต่องบประมาณ
นายกรณ์ กล่าวว่า ในแผนปฏิบัติการที่คณะทำงานปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ฯ แต่ละชุดจะมีการเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา และแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งรัฐบาลก็จะนำแผนดังกล่าวไปกำหนดว่าใครจะเป็นผู้รับไปปฏิบัติ โดยยกตัวอย่าง ในส่วนของผู้ประกอบการ รัฐบาลก็จะเน้นทำให้เข้าถึงแหล่งเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะจากการประชุมของคณะกรรมการฯ ได้ระดมสถาบันการเงินทุกแห่งมาให้แนวคิดและแนวทางความช่วยเหลือกับประชาชน
โครงการประชาวิวัฒน์ ถือเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนจากกรอบเดิม ๆ หรือประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในช่วง 2 ปี การทำงานของหน่วยงานราชการมักจะเป็นลักษณะของการข้ามหน่วยราชการ ซึ่งแผนงานดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแบบบูรณาการ
การจัดทำแผนปฏิบัติการในช่วง 15 พ.ย.-17 ธ.ค.53 อยู่ภายใต้มิติใหม่ 4 ด้านที่ภาครัฐนำมาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งได้มีการกำหนดกรอบการปฏิบัติในมิติที่ 1 ได้มีการกลั่นกรองจากความต้องการเร่งด่วนของประชาชนรอบด้าน เข้าถึงต้นตอของปัญหาอย่างติดดิน โดยคัดเลือกเป็นประเด็นสำคัญ 3 หัวข้อที่มีผลกระทบต่อประชาชน 25 ล้านคน ได้แก่ เศรษฐกิจนอกระบบ การลดค่าครองชีพ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจนอกระบบ ประกอบด้วย กลุ่มหาบเร่แผงลอยและกลุ่มเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชน, กลุ่มประกันสังคมและกลุ่มการรวมกลุ่มอาชีพ, กลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินกู้, กลุ่มจักรยานยนต์และแท็กซี่
ในส่วนของการลดค่าครองชีพจะดูแลในเรื่องอาหารและพลังงาน โดยในขั้นตอนได้มีการประชุมระดมสมอง ซึ่งคณะทำงานจากห้องปฏิบัติการได้พบและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 1 พันคน ได้แก่ เกษตรกร มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ในเวลา 5 สัปดาห์
มิติที่ 2 รวมทีมทลายกำแพงหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กว่า 70 คนจาก 30 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานร่วมกันอย่างเต็มเวลาในห้องปฏิบัติการ 5 สัปดาห์ มีกระบวนการจัดทำแผนมีการส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมในห้องปฏิบัติการคิดอย่างมีเหตุผลและทำงานกันเป็นทีม เพื่อระบุปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้ก้าวพ้นข้อจำกัดในเรื่องของการทำงานที่เป็นเอกเทศ ต่างคนต่างทำ หรือติดขัดระบบราชการ จึงทำให้กระบวนการจัดทำแผนแตกต่างจากระบบการทำงานตามปกติที่เคยทำมาในระบบบริหารราชการ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต้นสังกัดให้เข้ามาร่วมโครงการโดยตรง
มิติที่ 3 ผู้นำรัฐบาลผลักดันเต็มตัว เกาะติดความคืบหน้า ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายอย่างชัดเจนว่าผลสรุปที่ได้จากคณะกรรมการชุดจะถือเป็นนโยบายที่รัฐบาล และหน่วยงานทุกแห่งต้องยึดถือปฏิบัติ โดยคณะรัฐมนตรีจะมีมติรับรองผลสรุปของคณะทำงานเพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
มิติที่ 4 แผนลงรายละเอียดมุ่งสู่การปฏิบัติจริงมุ่งสู่การเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยได้มีการกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างละเอียดที่สามารถทำได้จริง สามารถเปิดเผยต่อประชาชน กำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนและกำหนดระยะเวลาการแก้ไขปัญหาอย่างแน่นอน สามารถวัดผลได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ รัฐบาลจะได้นำข้อเสนอจากคณะกรรมการฯ ไปจัดทำรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้นายกรัฐมนตรีแถลงมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในเดือน ม.ค.54 ต่อไป