นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ จะมีการเสนอวาระเรื่องกรอบวงเงินการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แต่หากจำเป็นต้องใช้วงเงินสูงกว่านี้ ก็ให้กระทรวงการคลัง และพลังงาน หารือร่วมกันว่าจะอุดหนุนในรูปแบบใด ด้วยการใช้เงินกองทุน หรือ การใช้งบประมาณมาอุดหนุน
นอกจากนี้ จะเสนอที่ประชุม กพช.พิจารณา เรื่องการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หน้าโรงกลั่นน้ำมันให้สะท้อนราคาตลาดโลก จากปัจจุบันที่กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นไม่เกิน 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะทำให้ประเทศลดการนำเข้าแอลพีจี และลดภาระการอุดหนุนการนำเข้าของกองทุนน้ำมันฯ
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินว่า หลังจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ 6 ของ บมจ.ปตท. (PTT)สามารถเดินเครื่องเต็มที่ในเดือนมกราคม และหากโรงกลั่น ได้รับการปรับราคาแอลพีจี จะทำให้มีแอลพีจีในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ออกสู่ระบบประมาณ 40,000-60,000 ตัน/เดือน ซึ่งเมื่อรวมทั้งสองกรณีจะทำให้ไทย ลดการนำเข้าเหลือประมาณ 60,000 ตัน/เดือน จากปัจจุบันนำเข้า 120,000 ตัน/เดือน และวงเงินการอุดหนุนการนำเข้า อาจจะลดลงเหลือประมาณ 1,000 ล้านบาท/เดือน
ตั้งแต่กลางปี 2551 ถึงปลายปี 2553 ประเทศไทยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนการนำเข้าแอลพีจี 30,000 ล้านบาท และในปีนี้ มีการอุดหนุนถึงประมาณ 20,000 ล้านบาท จากปริมาณนำเข้าต่อเดือน 127,000 ตัน
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานกำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับแผนประชาวิวัฒน์ที่นายกรัฐมนตรี เตรียมจะประกาศในต้นเดือนมกราคม 2554 เพื่อที่กระทรวง จะได้นำมาปรับแผนการดำเนินการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการแยกโครงสร้างราคาแอลพีจี และอื่นๆ
ในเบื้องต้น เห็นร่วมกันว่าการอุดหนุนแอลพีจีไม่ควรใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ที่ควรนำมาใช้เพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานทดแทนเท่านั้น จึงเห็นตรงกันว่า น่าจะใช้เงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ที่จัดเก็บจากผู้ผลิตปิโตรเลียมปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท มาอุดหนุนแทน แต่เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลายาวนาน จึงอาจต้องพิจารณาใช้งบกลางของรัฐบาลมาสนับสนุนก่อน แต่ก็ต้องรอการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีว่าจะใช้รูปแบบใด
สำหรับงานสัมมนา วิจัยพลังงานสู่การลดโลกร้อนนั้น กระทรวงพลังงานเน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ไปสนับสนุนการวิจัย 40.8 ล้านบาท ในปี 2548-2553 ทำให้เกิดการพัฒนาหลายด้าน และกระตุ้นให้นักศึกษาคิดค้น ทดลอง และการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเรื่องพลังงาน การลดโลกร้อน และการเตรียมบุคลากร ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานมากขึ้นในอนาคต