กกพ.เผยค่าเอฟทีงวดม.ค.-เม.ย.54 มีแนวโน้มลดลง ตามราคาต้นทุน-บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2554 มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ จากปัจจุบันค่าเอฟทีอยู่ที่ 92.55 สตางค์/หน่วย เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันเตาที่นำมาคำนวณย้อนหลัง 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2553) ปรับตัวลดลง

ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ในระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการคำนวณค่าเอฟทีรอบก่อนหน้านี้ที่อยู่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันในช่วงปลายปี ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงแรกที่อยู่ที่ระดับ 65—75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ดังนั้น ค่าเอฟทีจะปรับลดลงได้หรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใดนั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอรายละเอียดก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า หากพิจารณาจากค่าเอฟทีตามความเป็นจริงที่เกิดจากต้นทุนผันแปรของค่าเชื้อเพลิงในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2553 อยู่ที่ 37.24 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าเอฟทีคงที่อีก 46.83 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีที่เป็นจริงอยู่ที่ 84.07 สตางค์/หน่วย หรือต้องลดลงจากที่เรียกเก็บในปัจจุบัน 15.48 สตางค์/หน่วย จากราคาก๊าซที่ใช้ในการคำนวณสูตรอยู่ระดับ 231-235 บาท/ล้านบีทียู และราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 70.8-71.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นางพัลลภา กล่าวด้วยว่า กกพ.อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณ์สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) อีกจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เรื่องสายส่งไฟฟ้าว่ามีเพียงพอหรือไม่ รวมถึงพิจารณาว่าบริเวณที่จะตั้งโรงไฟฟ้ามีผู้ใช้ไอน้ำหรือไม่ โดยจะต้องมีการออกหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม โดยจะข้อเสนอที่ภาคเอกชนได้เสนอขายไฟฟ้ามาแล้วตั้งแต่ที่เปิดรับซื้อในรอบ 2,000 เมกะวัตต์แรก ซึ่งในส่วนการพิจารณารับซื้อในส่วน 2,000 เมกะวัตต์แรก ขณะนี้ได้รายชื่อ 20 บริษัท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แล้ว กำลังพิจารณาพิจารณารายละเอียดอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ