ครม.ศก.มอบคลังศึกษาขยายเวลาสิทธิเช่าอสังหาฯของต่างชาติจูงใจเข้าลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.ศก.) ว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการปรับปรุงอายุสัญญาการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามข้อกฎหมายและมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีการตรวจสอบข้อกฎหมายและความเหมาะสมในการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติจาก 30 ปี เป็น 50 ปี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในประเด็นดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น เพราะในต่างประเทศได้ให้สิทธิต่างชาติ 50-60 ปี

และ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดส่งข้อมูลดัชนีชี้วัดของการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2011) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นข้อมูลในการจัดทำแนวทางการปรับปรุงการดำเนินการ และจัดส่งให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อรวบรวมและนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ให้ทางสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทาง การดำเนินงานของประเทศต้นแบบที่ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับต้น ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย

นายวัชระ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอรายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2011)พบว่า ประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 12 ในปี 53 เป็นอันดับที่ 16 ในปี 54 มีสาเหตุสำคัญจากธนาคารโลกได้มีการปรับฐานการประเมินผลจากตัวชี้วัด 10 ด้าน เป็นตัวชี้วัด 9 ด้าน (ตัดตัวชี้วัดผลการจ้างและเลิกจ้างงาน)

และประเทศไทยมีอันดับลดลงใน 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ 3.2.1 ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (อันดับที่ 89 เป็นอันดับที่ 95) โดยธนาคารโลกรายงานว่า ประเทศอื่นมีการพัฒนาโดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อย่างครอบคลุมทุกกระบวนการทำให้มีการพัฒนาในอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศไทย

3.2.2 ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน (อันดับที่ 5 เป็นอันดับที่ 19) เนื่องจากในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ออกนโยบายลดค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์สินจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 0.11 ส่งผลให้อัตราภาษีโดยรวมลดลงจากร้อยละ 6.3 เป็นร้อยละ 1.12 แต่ในปี พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวแล้ว จึงมีผลให้ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนทรัพย์สินสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 และส่งผลให้อันดับของประเทศไทยตกลง ทั้งนี้ การยกเลิกนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราค่าธรรมเนียมซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้

3.2.3 ด้านการได้รับสินเชื่อ (อันดับที่ 69 เป็นอันดับที่ 72) ดัชนีด้านความลึกของข้อมูลเครดิตของประเทศไทยขาดความครอบคลุมของข้อมูลในเรื่อง ข้อมูลจากผู้ค้าปลีกและบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภค

3.2.4 ด้านการชำระภาษี (อันดับที่ 86 เป็นอันดับที่ 91) ประเทศไทยมีจำนวนครั้งในการชำระภาษี และระยะเวลาในการชำระภาษีสูง เนื่องจากประเทศไทยมีภาษีหลายประเภท และต่างแยกหน่วยงานในการจัดเก็บ (23 ครั้งต่อปี และ 264 ชั่วโมงต่อปี) ซึ่งหากเปรียบเทียบในแต่ละเกณฑ์การวัดกับประเทศที่อยู่อันต้น ๆ พบว่าประเทศฮ่องกง ซึ่งมีจำนวนครั้งในการชำระภาษี 3 ครั้งต่อปี และระยะเวลาในการชำระภาษีเป็น 80 ชั่วโมงต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ