นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือน พ.ย.53 การส่งออกมีมูลค่า 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 28.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้ามีมูลค่า 17,292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 35.3% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลประมาณ 408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับภาวะในช่วง 11 เดือนของปีนี้(ม.ค.-พ.ย.53) การส่งออกมีมูลค่ารวม 177,977 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 166,102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 39.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11,875 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นางพรทิวา กล่าวต่อว่า การส่งออกในภาพรวมทั้ง 11 เดือน ถือว่าเป็นตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งหากเดือน ธ.ค.สามารถส่งออกได้ 14,000-15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ยอดส่งออกทั้งปีทะลุ 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัว 26-27% แต่หากเดือน ธ.ค.สามารถส่งออกได้ 16,000-17,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ถึง 27.3-28.2%
ดังนั้น จึงเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 26-28%
สำหรับการส่งออกสินค้าเดือน พ.ย.ขยายตัวดีทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้สูงถึง 27.9% ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เป็นต้น
ส่วนสินค้าเกษตรขยายตัว 25.7% โดยสินค้าเกษตรที่การส่งออกขยายตัวสูง ได้แก่ ข้าว ขยายตัวถึง 53% คิดเป็นปริมาณ 7.8 ล้านตัน ซึ่งเชื่อว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถส่งออกข้าวได้เกิน 8.5 ล้านตันอย่างแน่นอน ส่วนยางพาราขยายตัว 49.2%
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่ามีการขยายตัวทุกกลุ่ม โดยตลาดหลักเช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยรวมขยายตัว 22.5% ตลาดศักยภาพสูง เช่น อาเซียน จีน เกาหลีใต้ เอเซียใต้ โดยภาพรวมขยายตัว 3.73%
ตลาดศักยภาพรอง เช่น รัสเซีย ละตินอเมริกา แอฟริกา ในภาพรวมขยายตัว 24% ในขณะที่ตลาดอื่นๆ เติบโตถึง 169.7% โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ ที่ส่งออกขยายตัวสูงถึง 226.3%
ด้านการนำเข้าพบว่าเดือน พ.ย.ยังขยายตัวได้เกือบทุกกลุ่มเช่นกัน โดยสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิง ขยายตัว 61.1% สินค้าทุน ขยายตัว 23.6% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัว 34.1% สินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 23.4% และ สินค้าในกลุ่มยานพาหนและอุปกรณ์ขนส่ง ขยายตัว 41.5%
รมว.พาณิชย์ กล่าวย้ำว่า ภาพรวมการส่งออก 11 เดือนแรกถือว่าดีมาก ทั้งนี้ ผู้ส่งออกได้มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามการแข็งค่าของเงินบาท เพื่อให้สามารถคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 20% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และที่สำคัญทำให้เห็นว่าลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ยอมรับราคาใหม่แล้ว ทำใหคลายความกังวลต่อผลกระทบจากค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี มองว่าในอนาคต การส่งออกจะต้องมองทั้งการขยายตัวทั้งในรูปของเงินบาทและเงินดอลลาร์ไปพร้อมๆกัน เนื่องจากคาดว่าตลาดการเงินโลกจะยังมีความผันผวนต่อเนื่อง
รมว.พาณิชย์ กล่าวถึง สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการส่งออกในปี 54 ว่า ได้แก่ 1.การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2.เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง 3.ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจากปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทำให้มีความต้องการสูง และ 4.การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมส่งออก
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์การส่งออกปี 54 กระทรวงพาณิชย์ จะเน้นให้ความสำคัญต่อทุกด้าน แต่จะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวสินค้า ด้านการตลาด ด้านต้นทุนราคา และด้านการประชาสัมพันธ์
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในปีนี้ มั่นใจว่า กระทรวงพาณิชย์สามารถควบคุมไม่ให้เกิน 3.5% จากมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ใช้ควบคุมและดูแลราคาสินค้าอย่างเข้มงวด ตลอดจนการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าและการควบคุมราคาสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบถูกลง และมีผลทำให้ราคาจำหน่ายในประเทศถูกลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้กำลังซื้อยังไม่ถึงขั้นดีเท่าที่ควร โดยอัตราเงินเฟ้อปี 54 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3-4% หรือเฉลี่ยประมาณ 3.7%