กระทรวงพลังงานเร่งผลักดันร่างกฎหมายควบคุมการใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ในภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี เพื่อป้องกันการลักลอบขนถ่าย คาดดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในไตรมาสแรกปี 54
"กระทรวงพลังงานจะเร่งออกกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2554 และมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และจะให้ระยะเวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวเป็นเวลา 1 ปี ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่จะมีผลบังคับใช้ทันที" นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าว
รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ในวันนี้ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบและการยกเว้นไม่ต้องปฎิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 สำหรับโรงงานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. ... เพื่อนำไปปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว โดยประเด็นหลักของกฎหมายจะเน้นเรื่องความปลอดภัย และการแยกประเภทการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ระหว่างภาคครัวเรือนและขนส่ง กับภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ให้ชัดเจน
โดยผู้ที่ใช้แอลพีจีเกินกว่า 500 กิโลกรัมจะต้องขอใบอนุญาตในการครอบครอง และกำหนดให้ต้องใช้ถังขนาดใหญ่ รวมทั้งเติมสารมาร์กเกอร์ เพื่อให้เกิดความแตกต่างในการใช้งาน แต่การเติมสารมาร์กเกอร์จะต้องไม่มีผลกระทบต่อค่าความร้อน และเครื่องจักร ส่วนผู้ที่ใช้แอลพีจี 250-500 กิโลกรัม จะต้องแจ้งให้ทราบแต่ไม่ต้องขออนุญาต ส่วนผู้ที่ใช้น้อยกว่า 250 กิโลกรัมไม่ต้องแจ้งและขออนุญาต ส่วนเรื่องความปลอดภัยจะเน้นการปรับปรุงรายละเอียดการนำแอลพีจีไปใช้งานให้เป็นไปตามข้อบังคับ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากขึ้น
รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน โดยหากไม่แจ้งขออนุญาตการใช้แอลพีจีให้เป็นไปตามข้อบังคับ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีปริมาณการใช้แอลพีจี ในภาคครัวเรือน ประมาณ 2 แสนตันต่อเดือน ภาคขนส่ง 5-6 หมื่นตันต่อเดือน ภาคอุตสาหกรรม 6-7 หมื่นตันต่อเดือน และปิโตเคม 1.3 แสนตันต่อเดือน
นอกจากนี้ ในเร็วๆ นี้ กระทรวงพลังงานยังเตรียมเสนอร่างกฎหมายสถานีบริการก๊าซแอลพีจีต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อควบคุมการขยายสถานีบริการก๊าซแอลพีจี โดยสถานีที่จะเปิดใหม่ จะต้องมีระยะห่างจากชุมชนเพิ่มจาก 60 เมตร เป็น 200 เมตร และมีการเว้นพื้นที่รอบสถานีบริการในรัศมี 10 เมตร