ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปี 54 โตเหลือ 6-10% เหตุฐานปีนี้ใหญ่ขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยมีสัญญาณดีขึ้นกว่าการประเมินในครั้งก่อนหน้า สะท้อนจากตัวเลขส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ดีเกินความคาดหมายของหลายฝ่าย แม้ต้องเผชิญปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว

วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยมีมูลค่า 17,699.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) สูงขึ้นจากร้อยละ 15.7 ในเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 21.5 แม้ว่าในเดือนนี้มีผลของการส่งออกทองคำซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 216 แต่ถึงแม้ไม่รวมทองคำ การส่งออกก็ยังเติบโตได้ดีกว่าที่คาด โดยการส่งออกที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 25.5 จากร้อยละ 14 ในเดือนก่อน

สำหรับในด้านการนำเข้ามีมูลค่า 17,292 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 35.3 ก้าวกระโดดจากร้อยละ 13.5 ในเดือนก่อน โดยเป็นที่สังเกตว่าแรงหนุนสำคัญมาจากการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73 (มูลค่า 3,116 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าเดือนตุลาคมกว่าเท่าตัว) และทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 176 โดยการนำเข้าที่ไม่รวมน้ำมันและทองคำขยายตัวร้อยละ 26.4 ทั้งนี้ การนำเข้าที่เร่งตัวสูงกว่าการส่งออกส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงมาที่ 408 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุลในระดับ 2,322 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า

โดยภาพรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 29.2 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 39.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11,875 ล้านดอลลาร์ฯ โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2553 น่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 26-28 ขณะที่กำหนดเป้าหมายการเติบโตของการส่งออกในปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 10

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวเลขส่งออกที่ดีเกินคาดนี้ บ่งชี้ว่าแรงส่งที่มีต่อการส่งออกของไทยยังคงมีความต่อเนื่อง และสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวต่อแรงเสียดทานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะเดียวกัน ด้านแนวโน้มตลาดก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดได้ส่งสัญญานในเชิงบวกมากขึ้น

"สะท้อนว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวฝ่าวิกฤตมาได้ดีกว่าที่คาด และหากกระบวนการปรับตัวนี้ดำเนินไปในลักษณะของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับศักยภาพการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว"

ด้วยฐานมูลค่าการส่งออกที่ขยายใหญ่ขึ้นในปี 2353 จึงทำให้ภาพของทิศทางการชะลอตัวของการส่งออกของไทยในปี 2554 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงระดับประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 6.0-10.0 ชะลอลงค่อนข้างมากจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 27.0 ในปี 2553

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในปี 2554 น่าจะเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ ได้เป็นครั้งแรก โดยคาดว่าการส่งออกตามฐานศุลกากรอาจมีมูลค่า 205,000-213,000 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 193,600 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553

สินค้าส่งออกสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ดีกว่าเฉลี่ย (ขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 10) อาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ความต้องการและราคาในตลาดโลกยังมีแนวโน้มดี ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตและคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องกำลังการผลิตใหม่ได้ในปี 2554 ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกอันดับสอง มีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าการส่งออกสูงเข้ามาใกล้เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และด้วยการลงทุนของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ได้ถึง 2.5 ล้านคันในปี 2559

"การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งได้ภายในไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2538 ที่การส่งออกของไทยในขณะนั้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มาสู่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ