นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ร่วมลงนามในบันทึก ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (Thailand Financial Instruments Information Center:TFIIC)กับหน่วยงานพหุพาคี 5 แห่ง ประกอบด้วย ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA)
การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทยนี้เป็นหนึ่งในแผนงานที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนา ตลาดทุนไทยระยะเวลา 5 ปี ภายใต้พันธกิจข้อที่ 4 ในหัวข้อ “การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวม ถึงด้าน ข้อมูล เทคโนโลยี และการกำกับดูแล" ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลตราสารการเงินที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ไว้ในแหล่งเดียวกัน โดยสอดคล้องตามมาตรฐานสากล สามารถแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้
ศูนย์ข้อมูลตราสารการเงิน จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ดังนี้ ประการแรกมีรายละเอียดของข้อมูลตราสาร ตั้งแต่ผู้ออกตราสาร ผู้ถือครองตราสาร และตลาดที่ตราสารนั้นออกจำหน่าย ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารการเงิน เป็นการสร้างความโปร่งใสในการ เปิดเผยข้อมูลการซื้อขายตราสารการเงินมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง มีข้อมูลในภาพกว้าง และความเชื่อมโยงของการระดมทุน การลงทุนของตลาดการเงิน ไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่อาจมีผลกดดันต่อค่าเงิน และ ติดตามพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุน รวมทั้งประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ
ประการที่สามช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลตราสารการเงิน ลดภาระ ความซ้ำซ้อน และปัญหาความไม่สอดคล้องของข้อมูล และท้ายที่สุด สำหรับผู้ร่วมตลาด มีข้อมูลในมุมมองใหม่ๆ ที่ครบถ้วนมากขึ้น ทำให้สามารถนำข้อมูล ไปประกอบกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อประมวลผลและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องขึ้น
ทั้งนี้ คณะทำงานพหุภาคี ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในปี 54