ปี 53 ส่งออกอาหารไทยขยายตัวต่ำกว่าเป้า แต่ปี 54 แนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร คาดการณ์การส่งออกอาหารของไทยตลอดปี 53 จะมีมูลค่า 7.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะส่งออกได้ 8.3 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 10.0%

"การส่งออกขยายตัวดีในครึ่งปีแรก แต่เพิ่งจะมาหดตัวในครึ่งปีหลัง จากปัญหาขาดแคลนวัตุถุดิบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้า ทั้งๆ ที่มีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารต้องเผชิญกับภาวะการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปลายปี ทั้งสองปัจจัยเป็นสาเหตุหลักที่บั่นทอนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารในปี 53" นายอมร กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มปี 54 การส่งออกอาหารมีมูลค่า 8.1 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของประเทศที่ผลิตรายสำคัญต่างๆ ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับ สินค้าอาหารของไทย ยังมีการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก

แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกปี 54 การส่งออกอาหารของไทยจะยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นรวมทั้งจีน และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าทุกๆ 1 บาท ทำให้การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่าลดลงประมาณ 13,700 ล้านบาท หรือทุกๆ 1% ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 3,700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกอาหารจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้

สำหรับแนวโน้มการค้าอาหารโลก คาดว่าจะมีมูลค่า 1,110,000 เหรียญสรอ. เพิ่มขึ้น 12% จาก 992,000 เหรียญสรอ.ในปี 53 ซึ่งขยายตัว 9.0% ตามการตึงตัวของอุปทานสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้หลายประเทศขาดความมั่นคงทางอาหาร

ทั้งนี้ ไทยยังคงรักษาการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลกไว้เช่นเดียวกับปีก่อน แต่ส่วนแบ่งตลาดอาหารของไทยปรับตัวดีขึ้นจาก 2.45% มาอยู่ที่ 2.58% ในปี 53 เนื่องจากสินค้าอาหารของไทยยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลก

สินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ปลาแช่แข็ง ปลากระป๋อง ผลไม้สดและแปรรู น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เครื่องปรุงรส และอาหารสัตว์ เนื่องจากความต้องการตลาดโลกยังมีมาก แต่ปัญหาเรื่องวัตถุดิบภายในประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตโลกจะส่งผลต่อการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ กลุ่มสัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งอาจจะต้องประสบปัญหาภาวะขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากความเสื่อมโทรมของน่านน้ำไทย ทำให้สินค้าอาหารทะเลบางชนิดต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อมาแปรรูส่งออก

สินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะลดลง ได้แก่ กุ้ง ผักสดและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งสองประเภทหลังจะมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

สินค้าที่คาดว่าจะส่งออกในปริมาณใกล้เคียงปี 53 ได้แก่ ข้าว ไก่ และปลาหมึกโดยเฉพาะข้าวมีความเสี่ยงจากผลผลิตและการส่งออกของประเทศคู่แข่ง ส่วนไก่ยังมีปัญหาไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้มากนักเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องโควตาการนำเข้เก่ปรุงสุกของสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกไก่สดแช่แข็งแม้จะมีหลายประเทศทยอยเข้ามาตรวจสอบโรงงาน แต่ก็เป็นประเทศผู้นำเข้ารายย่อย ส่วนตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ยังไม่อนุญาตนำเข้าไก้สดจากไทย

ในวันนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร ได้ร่วมกันแถลงรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 54

ด้านนายพรศิล์ป พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ปี 54 ผู้ประกอบการยังจะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งที่คุมได้และคุมไม่ได้ ที่คุมไม่ได้คือ สภาพอกาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตสูญเสีย, อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามกระแสโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับยักษ์ใหญ่ของโลก ในอนาคตการลงทุนในเอเชียจะเป็นแหล่งใหญ่โดยเฉพาะจีน ทำให้คาดการณ์ว่าปีหน้าค่าเงินภูมิภาคเอเชียจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งถ้าเงินบาทแข็งขึ้นขึ้นทุก 1% จะทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 3,700 ล้านบาท

"ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการและคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจระบบการเงินมากพอ โดยเฉพาะ SME ถ้ารู้ว่าเงินบาทจะแข็งต้องไปประกันความเสี่ยงยังไง ประกันตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเราสามารถป้องกันได้ อย่าปล่อยให้ลอยไปเรื่อยๆ แล้วถึงเวลาก็ไปพึ่งธปท."

อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องเผชิญคือ ราคาน้ำมัน เป็นเรื่องต้นทุนหลักในการผลิต


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ