(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปี 53 อาจทะลุ 8%,ปีหน้าลุ้นโตกว่าคาด หากเดินถูกทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 53 มีแนวโน้มจะเติบโตได้มากกว่า 8% หากการส่งออกในช่วงเดือน ธ.ค.ปีนี้ ยังเติบโตได้ระดับสูงที่ 28-29% ขณะที่ประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตได้ 7.9%

ขณะที่ไตรมาส 4/53 คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงจากไตรมาส 3/53 ไม่เกิน 0.2% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ยังเติบโตเป็นบวกได้แม้ว่าจะไม่สูงมากนัก

เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ 3.5-4.5% นั้น มีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าที่คาด หากจะเน้นการเพิ่มโอกาสการเติบโตในภาคบริการและการท่องเที่ยว แม้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ โดยจะต้องส่งเสริมธุรกิจใหม่ ๆ ที่เน้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ขณะเดียวกัน ต้องใช้โอกาสในการเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มอำนาจการต่อรองสินค้า ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงความร่วมมือกับอนุภูมิภาค เช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ทวายในประเทศพม่า ซึ่งจะเชื่อมโยงการขนส่งจากพม่ามายังไทย เป็นการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้

นายอาคม กล่าวในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยปี 54" ในงานสัมมนาธุรกิจไทยในต่างแดน โดยคาดว่าปีหน้าการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นความหวังที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่กำลังซื้อในภาคชนบทยังมีความสำคัญหากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่การส่งออกในปี 54 อาจเติบโตได้ไม่เท่าปี 53 ขณะเดียวกันควรจะเร่งสร้างกำลังซื้อในประเทศในกลุ่มชนชั้นกลาง ผู้ที่มีเงินเดือนประจำ ซึ่งรัฐบาลได้ปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้าง

อย่างไรก็ดี จากการที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งหากมีการปรับโครงสร้างด้านราคาพลังงานและอาหาร จะทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวไม่สูงขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อในปี 54 ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์คือไม่สูงเกินไปจากระดับ 3.5%

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้ายังมีทั้งเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเองยังต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 80% ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย

ส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจจะออกมาตรการ QE รอบ 3 ที่อาจจะมีเงินไหลมายังภูมิเอเชียบางส่วนนั้น ซึ่งหากนโยบายการโครงการลงทุนของแต่ละประเทศไม่ชัดเจน อาจจะทำให้เม็ดเงินดังกล่าวไหลไปลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้น จึงถือเป็นปัจจัยที่กระทบทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจะต้องติดตามนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต่อไป

ส่วนปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทนั้น ภาคธุรกิจไม่ควรคาดการณ์ว่าเงินบาทควรจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า แต่ควรใช้ฐานเงินบาทในปัจจุบันเป็นตัวคำนวณการทำธุรกิจในปีหน้า และเพิ่มปัจจัยความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลก ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการเมืองในประเทศเรื่องความปรองดองแห่งชาติที่จะต้องนำมาเป็นปัจจัยเสี่ยงในการพิจารณาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ