(เพิ่มเติม) 3ส.น้ำตาลคาดปี54 ความต้องการน้ำตาลในปท.โตกว่า 10%,ยันผลผลิตไม่ขาดแคลน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 23, 2010 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกที่ลดลง ทำให้ความต้องการน้ำตาลทรายของโลกในปีหน้า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-6% ขณะที่ประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปีนี้ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 10%

พร้อมยืนยันว่าไทยยังไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายอย่างแน่นอน

"ผู้ผลิตมีสินค้าป้อนตลาดตลอด แต่ผลิตเท่าไหร่ก็ขายหมด ตอนนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลปีละ 40 กก./คน เยอะมาก" นายประกิต กล่าว

นายประกิต ยังกล่าวถึงกรณีที่การกักตุนน้ำตาลว่า เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีก็คงไม่ใช่คนของสมาคมฯ แล้วก็ไม่ต้องตรวจสอบด้วย เพราะมีคนคอยตรวจสอบเราอยู่แล้ว เนื่องจากน้ำตาลมีการบังคับให้ขายเป็นสัปดาห์ เช่น 1 สัปดาห์มีโควตาขาย 1 พันตัน ขายได้เท่าไหร่ต้องขึ้นป้าย(ค้างกระดาน)

"ถ้าคุณมีโควตาขายสัปดาห์ละ 1 พัน ขายได้ 900 ตัน ก็ต้องขึ้นกระดานว่าเหลืออีกเท่าไหร่ และการขายน้ำตาลทรายแต่ละขั้นมีคนคุม โรงงานไม่สามารถขายหรือเก็บได้ตามชอบใจ มีคนคุมหน้าโรงงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนชาวไร่ ตัวแทนสำนักงานอ้อยและน้ำตาล และคนของโรงงาน...ยืนยันว่า เรื่องกักตุนน้ำตาล ไม่มีทางทำได้ น้ำตาลทุกล็อตที่ขายออกไป ต้องชี้แจงว่าขายให้ใคร ผู้ส่งออกต้องมีใบขนสินค้า

นายประกิต แสดงความมั่นใจว่า แนวทางที่คณะทำงานฯเสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศให้มีการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด โดยอิงราคาน้ำตาลทรายโลก กำหนดราคาต่ำสุดและราคาสูงสุด โดยมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาช่วยเหลือ ถือเป็นแนวทางที่ดี และน่าจะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบ

"ถ้าราคามันใกล้กันแล้วก็ไม่มีอะไรจูงใจให้ลักลอบ หรือแม้แต่ต่างกันน้อย ต่างกันแค่ 1 บาท 2 บาท ก็คงไม่ลักลอบให้เสียเวลา แต่ถ้ามันต่างกันมากๆ 5 บาท กองทัพมดอาจจะลักลอบขนย้ายได้ทีละ 10 กก.ได้ 50 บาทก็อาจจะเป็นไปได้"

นายประกิต กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่ดีในตลาดโลกเราเกือบจะไม่มีคู่แข่ง เราส่งออกเป็นเบอร์ 2 รองจากบราซิล แต่เราโชคดีที่น้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเท่าไหร่ก็ขายได้หมด ขณะนี้ไม่มีคู่แข่ง เช่นถ้าเราจะขายให้อินโดนีเซีย บราซิลจะมาขายก็คงไม่ไหวเพราะการขนส่งไกล

"แถบนี้เรากินตลาดหมดเลย ที่น่าห่วงคือในประเทศ มันสำปะลัง ยางพารา เพราะถ้าพวกนี้ราคาดีมากๆ ราคาดีกว่าอ้อย คนก็จะเลิกทำไร่อ้อยหันมาปลูกยาง ปลูกมัน พื้นที่ปลูกอ้อยก็จะลดลง ผลผลิตอ้อยต่อไร่ก็จะลดลง"

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศ ประมาณ 6-7 ล้านไร่

ด้านนายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเล่อร์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบ ตลาดนิวยอร์ก ในปี 2554 มีโอกาสแตะที่ระดับ 35 เซนต์/ออนซ์ เนื่องจากราคาส่งมอบ เดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ 33 เซนต์ต่อออนซ์ สูงสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทราย ทั้งบราซิล ยุโรป ออสเตรเลีย ฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอินเดีย ที่อาจไม่สามารถส่งออกน้ำตาลทรายได้ เพราะเกรงว่า อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

ดังนั้น ผู้ประกอบการ จึงต้องการให้รัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก เพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากรัฐบาล กำหนดเพดานราคาในประเทศ โดยน้ำตาลทรายขาว อยู่ที่ 22.50 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ อยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากรัฐบาล ปล่อยลอยตัวราคา จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ 26-27 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งยอมรับว่า อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อีก 15 ปีข้างหน้า ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกจะสูงถึง 40-50 ล้านตัน แต่ปัญหาคือจะเอาสินค้ามาจากไหน

"อีก 15 ปีความต้องการจะอยู่ที่ 40-50 ล้านตัน แต่ใครจะผลิต เพราะบราซิลคงไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ไทยเราอย่างมากน่าจะเพิ่มได้ไม่เกิน 3 ล้านตัน ถ้าจะให้เพียงพอก็ต้องช่วยกันเพิ่มผลผลิตต่อไร่"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ