ก.เกษตรฯเร่งแก้ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งหวั่นกระทบเสถียรภาพการแข่งขันของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 23, 2010 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ คาดว่าอัตราการผลิตในสาขาปศุสัตว์ของประเทศไทยในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 — 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2552 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไก่เนื้อที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเปิดตลาดส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งไปยังประเทศรัสเซีย อัฟริกาใต้ มาเลเซีย และบาร์เรน

ขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นกำลังพิจารณาอนุมัติให้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็ง ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกไก่เนื้อสดแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น และไม่เพียงแต่สินค้าปศุสัตว์ในกลุ่มของไก่เท่านั้นที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังรวมถึงสินค้าปศุสัตว์ประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น สุกร โคเนื้อ และโคนม ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะมีอัตราแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อเสถียรภาพของสินค้าเกษตรในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์คือ ในเรื่องของต้นทุนการผลิตในด้านอาหารสัตว์ที่ประเทศยังต้องพึ่งพาการนำเข้าถึงกว่าปีละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งในเรื่องดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดระบบการปลูกข้าว เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชหลังนาซึ่งจะเป็นกลุ่มพืชอาหารสัตว์ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยลดการนำเข้าอาหารสัตว์จากต่างประเทศได้มากขึ้น และทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ของเกษตรกรลดลง รวมถึงโครงการลดต้นทุนการผลิตโดยนำร่องใน 3 พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยใช้งบประมาณดำเนินการจากงบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสินค้าปศุสัตว์ของไทยคือในเรื่องของโรคระบาดสัตว์ และข้อกีดกันทางการค้าที่หลายๆ ประเทศนำเรื่องของก๊าซมีเทนที่เกิดจากภาคปศุสัตว์ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็นข้อกำหนดในการนำเข้า ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยข้อมูลดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาทางการค้าต่อไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ