ผู้ว่าธปท. ระบุปี 54 ขยับขึ้น RP แก้ดบ.แท้จริงติดลบ,จับตาผล QE ต่อเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 24, 2010 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา "2554 ปีทองเศรษฐกิจไทย" ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีดุลยภาพมากขึ้น โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือ การบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเห็นการขยับตัวขึ้น ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนยังต้องติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาหลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกสามารถเติบโตได้ดีเกินคาด โดยเฉพาะในปี 52 จากเดิมที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวมาก แต่ยังสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีตั้งแต่ไตรมาส 4/52 ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ เศรษฐกิจเติบโตได้ดีมาก ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องใช้ดอกเบี้ยต่ำหมดไป จากที่ดอกเบี้ยนโยบายเคยลงลึกไปถึง 1.25%

ในปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.00% ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยัง -1.4% เป็นการติดลบสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากอินเดีย ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยติดลบนานไม่เป็นผลดี ทำให้ฝ่ายออมเงินอึดอัด ความมั่งมีเสื่อมลง และเกิดความบิดเบือนในฝ่ายที่ใช้เงิน อย่างกรณีฝ่ายประเมินทรัพย์สิน ทำให้มีการตีมูลค่าของสินทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริง และมีการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งจะก่อความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน นายประสาร กล่าวว่า การที่เงินบาทมาอยู่ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะในอดีตเมื่อปี 40 เงินบาทได้อ่อนค่าจาก 27 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 50 บาท/ดอลลาร์ แต่ในระยะ 13 ปีที่ผ่านมา ภาพโดยรวมประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้า ขณะที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายขาดดุล

และในปีหน้าอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามการใช้มาตรการ QE ของสหรัฐฯ ว่าจะใช้เม็ดเงินมากน้อยเพียงใด หลังจากการใช้มาตรการดังกล่าวในปีนี้ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชียและไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างมาก ดังนั้นหากในปีหน้าสหรัฐฯ ไม่ได้เพิ่มเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากนักก็จะทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรง แต่หากสหรัฐฯ เพิ่มเม็ดเงินเข้าไปมากก็ต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี นายประสาร กล่าวว่า การบริหารอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนมีหลักการเกี่ยวข้อง 3 ด้านที่จะทำพร้อมกันไม่ได้ คือ ความต้องการเศรษฐกิจที่เปิดเสรีด้านการเงิน, ความต้องการความอิสรภาพในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาและอัตราเงินเฟ้อ และการกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน

"จะทำ 3 อย่างพร้อมกันเป็นไปไม่ได้ มันฝืน ปี 43 เราเคยพยายามจะทำจนทำให้เกิดความเสียหายมาก ตอนนี้ของเราทำ 2 อย่าง คือทุนเคลื่อนย้ายเสรี และดอกเบี้ยเป็นอิสระ ก็ต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น FIX ไม่ได้" นายประสาร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ