นาอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของไทยในปี 54 จะขยายตัวในช่วง 1.4-2.4% จากปี 53 ที่คาดว่าหดตัวราว 0.9% โดยเป็นผลจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งผลผลิตและราคา โดยเฉพาะสาขาการผลิตหลักที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี
สำหรับสาขาพืช คาดว่าจะขยายตัว 1.6-2.6% เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการเพาะปลูก ตามแรงจูงใจของราคาสินค้า ส่วนหนึ่งมาจากโครงการประกันรายได้ของรัฐในสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ
สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัว 0.8-1.8% เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ผู้ผลิตขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และ สาขาประมง คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% จากผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงและประมงทะเล ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสัตว์น้ำจืดเพาะเลี้ยง ยังคงได้รับการส่งเสริมจากกรมประมงอย่างต่อนเอง
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเติบโตของสาขาบริการทางด้านเกษตรอาจขยายตัวได้ไม่มากนัก อาจจอยู่ในช่วง 0.1-1.1%
นายอภิชาติ คาดการณ์ดัชนีราคาข้าวในปี 54 ว่า จะยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังมีในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากผลผลิตของประเทศต่างๆ ขาดแคลน จากปัญหาภัยธรรมชาติ และคาดการณ์ว่าข้าวของไทยจะยังได้รับการตอบรับจากตลาดโลก โดยประเมินราคาข้าวขาวไม่น่าจะต่ำกว่า 500 เหรียญ/ตัน ข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญ/ตัน
สำหรับแนวโน้มระหว่างดัชนีราคาพืชพลังงานและอาหาร ความต้องการน่าจะใกล้เคียงกัน แต่พืชพลังงานคงขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันด้วย ถ้าราคาตลาดโลกสูงความต้องการพืชพลังงานน่าจะสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พืชอาหารน่าจะเติบโตดีกว่าพืชพลังงานเล็กน้อย
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตรในปี 53 พบว่าหดตัวลง 0.9% สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ภาคเกษตรต้องประสบตั้งแต่ต้นปี โดยเริ่มจากภัยแล้งและแมลงศัตรูพืชระบาดในช่วงต้นปี รวมถึงปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี
เมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช คาดว่าหดตัวลง 1.7% เนื่องจากผลผลิตพืชสำคัญลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการระบาดของแมลงศัตรูพืช ทั้งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว และเพลี้ยแป้งสีชมพูในมันสำปะหลัง รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี
ส่วนราคาแม้ว่าสินค้าหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่พืชหลักอย่างข้าวประสบปัญหาลดลงทั้งผลผลิตและราคา ทำให้ในภาพรวมของสาขาพืชหดตัวลง เช่นเดียวกับสาขาบริการทางการเกษตรที่หดตัวลง 1.7% ขณะที่สาขาป่าไม้หดตัวลง 0.8% เนื่องจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน ทำให้การผลิตไม้ท่อนและการหาของป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติลดลง
สาขาที่ยังขยายตัวได้ คือ สาขาปศุสัตว์และสาขาประมง โดยสาขาปศุสัตว์ คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ผู้ผลิตขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับไม่มีการการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงในปศุสัตว์ในประเทศไทย ส่วนสาขาประมง คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% เนื่องจากความต้องการเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น