วงการมอง 2554 ปีทองสินค้าเกษตรไทย ดีมานด์ฟื้น-พื้นที่ปลูกเจอภัยธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 24, 2010 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการเกษตรมองแนวโน้มปี 54 เป็นปีทองของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ยางพารา ข้าว อ้อย ปาล์มน้ำมัน ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและจีน ขณะที่พื้นที่ปลูกในหลายประเทศต้องประสบปัญหาภัยธรรมชาติ

สำหรับสหรัฐซื้อสินค้าและบริการมากที่สุดของโลกถึงร้อยละ 23 ของโลก ที่แม้ช่วงก่อนหน้านี้จะเกิด Crisis แต่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 6 แสนล้านเหรียญสรอ. ทำให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนจีนยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียถึงร้อยละ 9.6 ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

นอกจากนั้น ปัญหาภัยธรรมชาติที่ปีนี้แปรปรวนอย่างมาก ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของหลาย ๆประเทศเสียหายจนเกิดภาวะตึงตัว บางประเทศจากที่เคยเป็นผู้ผลิตก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้นำเข้า ขณะที่ประเทศไทยยังโชคดีที่ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายมาหมายนัก สินค้าเกษตรหลายชนิดผลผลิตยังออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มราคายางพาราส่งออกในไตรมาส 1/54 คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ที่ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 90-100 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 100-120 บาท/กก.

ปัจจัยบวกที่สนับสนุนคือ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจของโลกโดยรวมยังขยายตัว ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโต รวมทั้งจีน

ปัจจัยที่ 2 คือ ผลผลิตยางพาราในไตรมาส 1/54 คาดว่าจะลดลงในช่วงปลายเดือน มี.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นยางเริ่มผลัดใบเพราะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้งตามปกติของประเทศไทย (มี.ค.-พ.ค.ของทุกปี) แต่ความต้องการใช้ยางพาราในการผลิตยางล้อ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ จะยังคงเพิ่มขึ้นตามภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยต่อมา ความต้องการซื้อรถยนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 54 ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก แต่ปัจจัยที่อาจจะกดดันคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกจากปัจจุบัน

ปัจจัยต่อมา ตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีแนวโน้มการขยายตัว รวมทั้งยางพาราและน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เนื่องจากคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังมีความผันผวนและมียังอ่อนตัวในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ราคายางสังเคราะห์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15% ของการใช้ยางทั้งโลก คาดว่าจะยังปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้ง คาดว่าความพยายามของธนาคารกลางของประเทศต่างๆและองค์กรการเงินระหว่างประเทศในการควบคุม กำกับดูแลระบบการเงินของประเทศและของโลกให้มีความโปร่งใสและมีเสถียรภาพจะเริ่มปรากฎผลชัดเจนมากขึ้น ซึ่งผลักดันให้ภาคเอกชนนำเงินไปลงทุนด้านการผลิต และนำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตมิศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีหน้าการส่งออกข้าวจะยังมีแนวโน้มที่ดี คาดว่าจะปริมาณการส่งออกจะใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 8.5-9 ล้านตัน แม้ว่าปีนี้เราอาจจะส่งออกข้าวได้มากกว่าที่คาด คือ น่าจะส่งออกได้ประมาณ 8.8 ล้านตันก็ตาม

ปัจจัยที่ทำให้ปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้มาก เพราะคู่แข่ง คือ เวียดนาม ช่วงที่เราบาทแข็งมากๆ เวียดนามขายข้าวได้มาก เพราะส่วนต่างราคาข้าวไทยกับข้าวเวียดนามห่างกันราว 100 เหรียญสรอ.ทำให้ 3 เดือนที่ผ่านมา(ก.ย.-พ.ย.)ข้าวเวียดนามเริ่มหมดและผลผลิตใหม่ของเวียดนามจะออกสู่ตลาดอีกครั้งประมาณเดือน มี.ค.54 ทำให้ช่วงนี้จนถึงไตรมาส 1/54 จะยังเป็นโอกาสที่ข้าวไทยจะกลับมาทำตลาดได้อีกครั้ง แต่ตั้งแต่ไตรมาส 2/54 เราต้องจับตามดูอีกครั้งว่าผลผลิตของเวียดนามจะออกมาเท่าไหร่

ทั้งนี้ คาดว่าปี 53 เวียดนามส่งออกข้าวราวๆ 7-7.7 ล้านตัน

สำหรับปี 54 คาดว่าราคาส่งออกข้าวขาวของไทย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 520-600 เหรียสรอ./ตัน ขณะที่ข้าวเวียดนามน่าจะใกล้เคียงปีนี้ที่ 495 เหรียญสรอ./ตัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงของข้าวไทยในปีหน้าอีกอย่างคือ การร่วมมือกันของเวียดนามและกัมพูชา คาดว่าปี 54 ผลผลิตข้างของกัมพูชาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผลผลิตน่าจะอยู่ราวๆ 8 ล้านตัน ซึ่งหากรวมกับผลผลิตข้าวเวียดนามราว 7 ล้านตัน ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก

"เวียดนามผลิตข้าวได้เท่าไหร่ ส่งออกหมด ขณะที่ข้าวกัมพูชาเริ่มมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ หากเอาผลผลิตของสองประเทศมารวมตัวกันถือว่าน่ากลัวมาก"นายชูเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ ทางการเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างมาก โดยให้งบประมาณในส่วนนี้ปีละ 3 พันล้านบาท ขณะที่ของไทยมีงบในการพัฒนาคุณภาพข้าวปีละ 200 ล้านบาท จึงถือเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กล่าวว่า ปี 54 สินค้าเกษตรไทยต้องให้ความสำคัญกับ 3G คือ Global Economy, Global Warming และ Good Agricultural Practice โดยเฉพาะ Global Economy คือ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐ ยุโรป และจีน

Global Warming ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตเสียหาย การบริหารสต็อกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ปี 51 ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ก็เร่งส่งออกกันไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ จนการบริโภคในประเทศขาดแคลน เหมือนอินเดีย ที่ต้องระงับการส่งออกข้าวมาจนบัดนี้

"หลายประเทศมีประสบการณ์เรื่องนี้ มาแล้วก็จะเพิ่มความระมัดระวังเรื่องสต็อกมากขึ้น" นายพรศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ