พพ.เผยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตไฟฟ้าชีวมวล

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday December 26, 2010 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานข้อมูลศักยภาพในการผลิตพลังงานชีวมวลสูงมากในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี โดยเฉพาะข้าว ปาล์ม มะพร้าว และไม้ยางพารา พพ.ต้องการส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของข้อจำกัดด้านปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่

โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า จ.ยะลา มีปริมาณแกลบ 2,400 ตัน ฟางข้าว 6,500 ตัน มะพร้าว 3,900 ตัน และไม้ยางพารา 25,000 ตัน, จ.ปัตตานี มีปริมาณแกลบ 8,900 ตัน ฟางข้าว 24,000 ตัน มะพร้าว 1,800 ตัน และไม้ยางพารา 25,000 ตัน, จ.นราธิวาส มีปริมาณแกลบ 4,200 ตัน ฟางข้าว 11,000 ตัน มะพร้าว 20,000 ตัน และไม้ยางพารา 25,000 ตัน ส่วนใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีปริมาณแกลบ 25,000 ตัน ฟางข้าว 67,000 ตัน มะพร้าว 7,000 ตัน และไม้ยางพารา 32,000 ตัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการจูงใจกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้พิจารณาให้ส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(VSPP) เพิ่มเติมในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยได้กำหนดส่วนเพิ่มสำหรับโครงการจากพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาทต่อหน่วย และจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังน้ำ และขยะ เพิ่มขึ้นอีก 1 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทีพบว่ามีศักยภาพสูงเหมาะกับการลงทุนอย่างยิ่ง

นายทวารัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าไปลงทุนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เพียง 4 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบที่ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด, บริษัท ปัตตานี เอสโก จำกัด, บริษัท ยะลากรีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด และผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัท พาวเวอร์ เทคโนโลยี อินเตอร์เนชั่นแนล โดย พพ.คาดหวังว่าในปีใหม่ 2554 นี้ น่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในพื้นที่พิเศษดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลงทุนในพื้นที่และเป็นการช่วยจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ เสริมความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ได้ รวมทั้งอาจจะช่วยลดความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวได้ในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ