"วรรณรัตน์"ลั่นเข้มส่งเสริมพลังงานทดแทนในปี 54 มุ่งสู่ยุทธศาตร์ 20 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 27, 2010 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในปี 2554 กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายเพื่อเร่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามแผน 15 ปีให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังมากขึ้นและการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะลด Energy Intensity ให้ได้ 25% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2548 และจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 30 ล้านตันต่อปี

"ในปี 54 คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล" รมว.พลังงาน กล่าว

ยุทธศาสตร์สำคัญตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ประกอบด้วย การใช้มาตรการผสมผสานระหว่างการกำกับและบังคับด้วยกฎหมาย การจูงใจผ่านกลไกตลาดและราคา และการส่งเสริมเพื่อสร้างความตะหนักให้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคอาคารธุรกิจ และครัวเรือน

จากมาตรการดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลด้านการอนุรักษ์พลังงานและลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองเท่านั้น แต่จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อตัวขึ้นซึ่งกำหนดบทบาทให้ประเทศไทยในอนาคตเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูง (Energy efficient economy) และสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon society) ต่อไป

สำหรับปี 2553 รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปริมาณการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปี 2552 หรืออยู่ที่ระดับ 1.785 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้มีการขยายตัวสูงขึ้นส่งผลให้การใช้พลังงานทุกชนิดปรับเพิ่มขึ้นและหากเศรษฐกิจของโลกฟื้นตัวในอัตราเช่นนี้ คาดว่าการใช้พลังงานในปี 2554 จะเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2553 หรืออยู่ที่ 1.870 ล้านบาร์เรล/วัน

สำหรับมูลค่าการใช้พลังงานโดยรวมพบว่า อยู่ที่ 1,796,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) แม้จะมีปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ 802,200 บาร์เรล/วัน หรือลดลง 0.1 % แต่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 17.6% หรือคิดเป็น 733,000 ล้านบาท

ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 147,724 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 9.6 % คิดเป็นมูลค่าการใช้ไฟฟ้า 478,000 ล้านบาท และปริมาณการใช้ LPG ในปี 2553 อยู่ที่ 5.9 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 13.4% เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดอุปสรรคจากกรณีโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ไม่สามารถดำเนินการ ทำให้อัตราการนำเข้า LPG เพิ่มขึ้นกว่า 100% อยู่ที่ 1.524 ล้านตันต่อปี และคิดเป็นมูลค่าที่รัฐต้องชดเชยการนำเข้า 20,919ล้านบาท

ในส่วน "การขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน" ซึ่งเป็นวาระแห่งชาตินั้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการผลักดันอย่างเป็นระบบ โดยในปี 2553 มีผลการส่งเสริมคิดเป็นสัดส่วน 7.75% จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีที่จะส่งเสริมให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2565

ที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จในหลายรูปแบบและใช้มาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น 1.72 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน การใช้เอทานอลค่อนข้างทรงตัวในระดับ 1.23 ล้านลิตร/วัน แต่การผลักดันมาตรการทางภาษีสรรพสามิตในส่วนของรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล E85 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและคาดว่าจะมีผลประกาศใช้ในปี 2554

ในปี 2553 มีรถยนต์ E85 เพิ่มขึ้นเป็น 3,400 คัน และคาดว่าในปี 2554 จะเพิ่มเป็น 15,000 คัน ขณะที่ยอดการใช้น้ำมัน แก๊สโซฮอล E85 เพิ่มขึ้นจาก 630 ลิตร/วันในปี 2552 เป็น 5,500 ลิตร/วันในปี 2553 และคาดว่าในปี 2554 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 41,000 ลิตร/วัน และจะมีสถานีให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 30 แห่ง จากปัจจุบัน 11 แห่ง

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(NGV)มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น 22.5% จากปีก่อน หรือ 4,900 ตัน/วัน และมีจำนวนรถที่เปลี่ยนมาใช้ NGV เพิ่มขึ้น 30.46% หรือคิดเป็น 211,368 คัน ทั้งนี้ มีจำนวนสถานีให้บริการ NGV เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 420 แห่งในปี 2553 และในปีหน้าคาดว่าจะเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 530 สถานี เพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ NGV ที่เพิ่มขึ้น

ด้านมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นอีกด้านหนึ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ มาตรการด้านการบริหารโดยการส่งเสริมโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนโครงการสินเชื่อพลังงาน

รวมทั้ง โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) และโครงการขอรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร โดยในปี 2553 ได้ส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงาน รวม 261,007 ล้านบาท และทำให้เกิดการประหยัดพลังงานคิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท/ปี

ส่วนของมาตรการด้านสังคม การรณรงค์ในปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการใช้หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (T5) ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ วัด มัสยิด โบสถ์และส่งเสริมการเปลี่ยนหลอดไฟในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 1,876,000 หลอด ซึ่งสามารถลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 440,000 ตัน/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ