(เพิ่มเติม1) สศค.ปรับเป้า GDP ปี 53 เป็น 7.8% จาก 7.5%,ปีหน้าคาดโต 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 28, 2010 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 53 เพิ่มขึ้นมาที่ 7.8% จากเดิม 7.5% เนื่องจากการส่งออก การบริโภค การลงทุน และ ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวดีขึ้น

ส่วนในปี 54 คาดว่า GDP จะเติบโตได้ในระดับ 4.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังต้องระมัดระวังการขยายตัวของการส่งออกที่มองว่ายังเปราะบางในปีหน้า

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.8 ปรับตัวดีขึ้นมากจากปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี ซึ่งประมาณการครั้งนี้สูงกว่าประมาณการ ณ เดือน ก.ย.53 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 สะท้อนภาพรวมทางเศรษฐกิจในปี 53 ที่ถือว่าขยายตัวได้ในระดับสูงมาก

ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ขยายตัวในอัตราที่สูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ราคาพืชผลสำคัญปรับตัวสูงขึ้น และการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออก

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้เดิม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลร้อยละ 4.4 ของ GDP เกินดุลลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทำให้มูลค่านำเข้าสินค้ามีการเร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37.5 ต่อปี เทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 28.3 ต่อปี

ผู้อำนวยการ สศค.ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า ในปี 54 เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0 ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 53 ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้ ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-4.5 ต่อปี โดยมีแรงกดดันที่สำคัญมาจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้ และราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าในปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ร้อยละ 3.6 ของ GDP ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1-4.1 ของ GDP โดยมูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.2-14.2 ต่อปี และมูลค่านำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.6-15.6 ต่อปี

ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 53 และปี 54 โดยประเมินจาก 6 สมมติฐานหลัก ประกอบด้วย 1. การเติบโตของเศรษฐกิจ 14 ประเทศคู่ค้าหลัก ที่ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ จากไตรมาส 4/53 ที่ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศประสบปัญหาสภาพอากาศหนาว ส่วนปี 54 คาดว่าราคาน้ำมันยังปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวและการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดย คาดว่าน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ อยู่ที่ 78.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนปี 54 เฉลี่ยอยู่ที่ 83 ดอลลาร์/ออนซ์

3.ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าในไตรมาส 4/53 ขยายตัวได้ดี โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้น 4.ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ยังปรับแข็งค่าขึ้นตามดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง แต่มีความผันผวนสูงจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยคาดว่าปี 53 เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์ และปี 54 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์

5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า เพื่อกลับไปสู่ระดับปกติ โดยคาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายปี 54 จะปรับเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 2.5-3.5% และ 6.รายจ่ายภาคสาธารณะในปีงบประมาณ 53 ที่ขยายตัว 1.9% มีความลฃ่าช้าจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ แต่ปีงบประมาณ 54 คาดว่ารายจ่ายภาคสาธารณะจะขยายตัวดีขึ้นที่ 4.3-5.4%

ผู้อำนวยการ สศค.ประเมินว่า เงินบาทในปีหน้า แม้จะแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในระดับน่าเป็นห่วง และคงไม่แข็งค่าขึ้นมากถึง 10% เหมือนปี 53 และหากภาครัฐและเอกชนมีการเร่งการลงทุน จะช่วยลดกระแสการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วได้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้าที่ปรับสูงขึ้นไม่มาก โดยประเมินรวมถึงของรัฐบาลที่มีมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึง การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และอาหาร ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้ รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ