ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุมาตรการภายใต้ประชาวิวัฒน์ตัวแปรกระตุ้นเศรษฐกิจปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 28, 2010 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคงยากที่จะหลีกพ้นแนวโน้มชะลอตัว จากปัจจัยฉุดรั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทิศทางอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน แต่เริ่มมีมุมมองในเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 54 เพิ่มขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เป็นผลจากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น และการเปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้แผนโครงการเร่งรัฐปฏิบัติการ(เพื่อคนไทย) หรือ โครงการประชาวิวัฒน์ ที่คาดว่าอาจมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนผ่านมาตรการ เช่น การลดภาระค่าครองชีพ การเพิ่มรายได้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและระบบสวัสดิการ

หากพิจารณาเฉพาะมาตรการที่มีแนวทางดำเนินการแน่ชัดแล้ว ได้แก่ การต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรไปถึงเดือน ก.พ.54 ซึ่งมีวงเงินดำเนินการกว่า 8,000 ล้านบาทนั้น อาจกระตุ้นจีดีพีได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 ซึ่งคงไม่เปลี่ยนแปลงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่อยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 ในปี 54

แต่หากมีการขยายมาตรการทั้ง 2 กลุ่มนี้ และมาตรการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไปจนถึงสิ้นปี 54 แล้ว อาจต้องใช้วงเงินสูงถึง 50,000-80,000 ล้านบาท ย่อมทำให้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงรอติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการภาครัฐดังกล่าวที่น่าจะมีการประกาศและเริ่มดำเนินการภายในเดือน ม.ค.54 ก่อนที่จะพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 54 อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 54 หากแรงกดดันเงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกินกรอบประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 2.5-4.0 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และร้อยละ 1.8-2.6 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแล้ว เครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 2.50 ภายในครึ่งแรกของปี 54 และน่าที่จะยืนที่ระดับดังกล่าวไปตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 54

หากในช่วงเวลานั้นสัญญาณการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าอานิสงส์จากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และผลต่างของอัตราดอกเบี้ย และ/หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่หนุนกระแสของสกุลเงินในเอเชีย รวมถึงปัจจัยหนุนเพิ่มเติมของเงินบาทจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (อีก 8.3-11.7 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 54) อาจทำให้เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 28.30 และระดับ 28.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในกลางปี 54 และสิ้นปี 54 ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ