นิด้าคาดศก.ไทยปี 54 โต 4% จับตาปัจจัยเสี่ยงดบ.ขาขึ้น-เงินเฟ้อ-การเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประเมินถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 54 ว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากหลายประเทศยังอยู่ในภาวะของการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในราว 3-3.5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4% ชะลอตัวลงจากปี 53 ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7% ขณะที่ระดับราคาน้ำมันปี 54 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล จะเป็นอีกหนึ่งแรงกดดัน

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกนั้น แม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งจากการบริโภคภาคครัวเรือน ยอดจำหน่ายบ้านใหม่ที่เพิ่มขึ้น ราคาบ้านที่สูงขึ้น และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ลดลง แต่ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากมายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่ไม่สมดุล ภาวะของค่าเงินที่ไม่มีเสถียรภาพ และปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรป ซึ่งหากยังคงขยายวงกว้างต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ อีก นอกจากกลุ่มประเทศที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ขณะที่การฟื้นตัวของหลายประเทศก็ยังคงเกิดขึ้นภายใต้ความเปราะบาง

"จะมีก็แต่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ อย่าง อินเดีย บราซิล รัสเซีย และจีน ที่ค่อนข้างจะอยู่นอกเขตความเสี่ยงของวิกฤติ ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้เอง จะเป็นตัวช่วยทำให้ตัวเลขทางสถิติและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ตกต่ำหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยจนเกินไป " นายมนตรี

ส่วนการขยายตัวของประเทศใหญ่ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกาในปี 54 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ระหว่าง 2.5 — 3% ยุโรปขยายตัวอยู่ที่1.5 — 2% เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่

ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่ภูมิภาคเดียวกันกับไทย คาดว่าในปี 54 เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 10% และ 8% ตามลำดับ

ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 7%

ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok นิด้า กล่าวด้วยว่า ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกในสัดส่วนถึง 71.9% ต่อ GDP ย่อมจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ตลอดจนในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปี 54 ได้อีก เนื่องจากยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้อย่างชัดเจน ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาเสถียรภาพในภาคการเมือง ปัญหาอุทกภัย ปัญหาการผลิตในภาคเกษตรกรรม และปัญหาความผันผวนของค่าเงิน

ตลอดจนแผนนโยบายที่รัฐบาลได้มีการอนุมัติไว้เพื่อเริ่มดำเนินการในปี 54 ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นฐานเงินเดือนข้าราชการ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของภาคการบริโภคภายในเพิ่มมากขึ้น จากการมีอำนาจซื้อที่สูงขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และระดับราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้น จากแรงผลักดันด้านอุปสงค์เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี 54 ระดับอัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ 4.0 — 5.0% ภาคการลงทุนเอกชน มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 53 แนวโน้มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีทิศทางขาขึ้นคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5 — 2.75%

ส่วนภาคการส่งออกอาจจะเกิดการชะลอตัวลงอยู่บ้างจากปัญหาค่าเงินแข็งที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการได้เริ่มมีการปรับตัวด้วยการขึ้นราคาสินค้า เพื่อชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้น และภาวะตลาดต่างประเทศเองก็รับได้ ทำให้คาดว่าในปี 54 การส่งออกของไทยจะสามารถขยายตัวได้ถึง 8% การนำเข้าขยายตัวได้ 10% และระดับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28 — 29 บาท/ดอลลาร์

"คาดว่าภาวะของเศรษฐกิจไทยในปี 54 ที่มีโครงสร้างพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง และผันผวนตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก จะสามารถขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.5 — 4.0 โดยประมาณการดังกล่าว อยู่ภายใต้เสถียรภาพทางการเมือง และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความคืบหน้า" นายมนตรี

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ จากแผนนโยบายของรัฐบาลที่ได้อนุมัติไว้ โดยประเด็นนี้จะเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังกระบวนการในการแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้นโยบายการเงินในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นผลกระทบที่จะตามมาก็คือ ระดับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจในการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาความผันผวนของค่าเงินจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศตามมา ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ภาวะทางการเมืองก็เป็นอีกปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในการลงทุน โดยล่าสุดประเทศไทยไม่ติด 1 ใน 25 ของประเทศที่มีบรรยากาศในการลงทุนที่ดี แต่ไทยกลับติดอันดับ 1 ใน 7 ของประเทศที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการก่อการร้าย ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนอีกประเด็นปัญหาที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือ ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟู และวินัยทางการเงินการคลัง โดยจะส่งผลต่อเนื่องไปยังสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP

ส่วนภาวะของตลาดหลักทรัพย์ในปี 54 เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างเปราะบางอยู่ ตลอดจนในปี 53 ประเทศที่พัฒนาแล้วผลตอบแทนยังอยู่ในแดนลบ และความผันผวนของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงสูงอยู่ อาทิ ภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป และความกังวลต่อการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งการดำเนินมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่อง (Quantitative Easing) ได้ส่งผลให้มีสภาพคล่องในระดับที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมทั้งภูมิภาคเอเชียเอง มีปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นแรงหนุนอีก

ดังนั้นจึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในช่วงต้นปี 54 ทิศทางของตลาดหุ้นจะค่อนข้างมีความสดใส โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ดัชนีหุ้นไทยในปี 54 จะแตะที่ระดับ 1,150 จุด โดยประมาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ