คลังงดเบิกค่ายากลุ่มบรรเทาอาการข้อเสื่อม เหตุไม่คุ้มค่าการรักษา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 30, 2010 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อจัดทำมาตรการกำกับดูแลการใช้ยาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ เพื่อศึกษาทบทวนเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ

คณะทำงานฯ ได้มีการสืบค้น รวบรวมเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าจากการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ พบว่าสถานพยาบาลหลายแห่งมีสัดส่วนการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติมากถึง 60-70% และใช้จ่ายงบประมาณสูงมาก โดยเฉพาะโรคข้อและกระดูกมีการสั่งยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติและมีราคาแพงมาก

คณะทำงานฯ จึงมีการศึกษารวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษาของกลุ่มยาประเภทบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า ชื่อทางการแพทย์คือกลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน)ทุกรูปแบบ และกลุ่มยาที่ฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม(ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ พบว่า มีประสิทธิผลในการรักษาไม่ชัดเจน และมักพบในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือประเภทวิตามิน ใช้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น และทางการแพทย์ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ดังนั้น การใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสามารถรักษาอาการของโรคได้อาจไม่เกิดประโยชน์และไม่คุ้มค่ากับราคายาที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมาก จึงมีหนังสือสั่งการกำหนดให้กลุ่มยาดังกล่าวเป็นรายการที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามที่คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์เสนอ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.54 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ทางการแพทย์ถ้าแพทย์ผู้รักษาเห็นว่าการสั่งยากลุ่มดังกล่าวเพื่อบรรเทาอาการหรือเพื่อเป็นวิตามินเสริมให้แก่ผู้ป่วยก็สามารถสั่งใช้ยาได้ โดยผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายเองจะนำมาเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการไม่ได้

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)เป็นภาวะเสื่อมที่มีผลต่อข้อและเนื้อเยื่อของข้อ มีอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อมีการใช้งานของอวัยวะส่วนนั้น ต่อมามีอาการข้อบวม ฯลฯ เมื่ออาการมากในขั้นท้ายๆ ข้อจะมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง นอกจากการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือการอักเสบเพื่อป้องกันการลุกลามของโรคแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่น่าจะเป็นประโยชน์

กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine sulfate)เป็นสารประกอบที่พบในรูปแบบของยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยทั่วไปมักรับประทานในขนาดวันละ 1500 มิลลิกรัม การศึกษาในหลอดทดลองจากการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่ากลูโคซามีนซัลเฟตมีผลกระตุ้นการสังเคราะห์และยับยั้งการสลายตัวของโปรติโอไกลแคน (Proteoglycans) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่กันการกระแทกระหว่างกระดูกข้อ นอกจากนี้กลูโคซามีนยังแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างอ่อนๆด้วย

การศึกษาทางคลินิกสำหรับการศึกษาทางคลินิก (การศึกษาในมนุษย์) พบว่า ผลการรักษาคล้ายคลึงกับยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)แต่ผลเริ่มต้นจะช้ากว่า และการบรรเทาอาการจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รวดเร็วเหมือนการใช้ยา ผลการบรรเทาอาการมีตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงมาก (รายงานการศึกษา ๑๔ ใน๑๕ ฉบับ) ข้อดีของกลูโคซามีนซัลเฟต เหนือ ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)คือ ชะลอการเคลื่อนตัวเข้าหากันของข้อกระดูกที่ข้อเข่าเห็นผลนี้ชัดเจนเมื่อใช้ในระยะยาว ตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไปและต่อเนื่องไป ชัดเจนมากขึ้นอีกหลัง ๓ ปี

อาการไม่พึงประสงค์ ที่พบบ่อย คือ คลื่นไส้ ท้องเสีย แสบท้อง ปวดท้อง อาการอื่นๆที่พบไม่บ่อยคือ มึนงง ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ บวม อาการทางผิวหนัง หัวใจเต้นเร็ว ข้อควรระวังคือไม่ควรใช้ในคนที่แพ้อาหารทะเล เนื่องจากกลูโคซามีนอาจเตรียมจากสัตว์ทะเล อาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ