นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปี 54 มั่นใจจะสามารถดูแลเศรษฐกิจได้โดยเศรษฐกิจจะไม่ย้อนกลับไปสู่วิกฤตเหมือนอดีตที่เคยเกิดขึ้น แต่อัตราการเติบโตคงไม่สูงเท่าปี 53 แต่อยู่ระดับไม่เป็นปัญหา ขณะเดียวกันต้องจับตา 3 ปัจจัยหลักที่อาจเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจ คือราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจต่างประเทศ
“ปัญหาเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ปี 54 แรงกดดันมาจากราคาน้ำมัน เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องของแพง ต้องจับตาเศรษฐกิจต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกาที่อาจจะมากระทบเรา แต่มันไม่ใช่รุนแรงเหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา"นายกรัฐมนตรี กล่าว
สหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเชื่อว่าในปีงบประมาณ 54 จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมายนับแสนล้าน เห็นจได้จาก 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายจะมีส่วนช่วยในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ส่วนการนำเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐมาชำระหนี้รัฐบาลหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าจะต้องไม่กระทบต่อวินัยทางการเงินการคลัง และไม่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกกังวลใจ ซึ่งเงินทุนสำรองของไทยต่อรายได้ ถือว่าสูงที่สุดในโลก แต่ไม่รวมประเทศสิงค์โปร์และฮ่องกงที่มีขนาดเศรษฐกิจแตกต่างกัน ขณะที่ปัญหาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่อาจจะพิจารณาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งยืนยันรัฐบาลยังคงนโยบายจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายใน 5 ปีตามที่เคยประกาศไว้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 54 ว่ารัฐบาลจะเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเชิงความเหลื่อมล้ำและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจของไทย
ส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเน้นที่การปรับปรุงกิจการรถไฟ ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านต่างๆ เช่นด้านการเกษตร ด้านการบริการ เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และรักษาฐานกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์
ด้านการท่องเที่ยวมั่นใจว่า ปี 53 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นถึง 15.5 ล้านคน แต่ในปี 54จะเน้นการปรับปรุงในด้านคุณภาพการให้บริการ โดยมีเป้าหมายหลักในการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและลดการสูญเสียทรัพยากรให้น้อยลง
สำหรับการจัดการเลือกตั้งในปี 54 ที่อาจมีการแข่งขันทางการเมืองอย่างรุนแรง นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจกับภาคเอกชนว่า รัฐบาลจะไม่ยอมปล่อยให้มีเหตุการณ์ใดๆที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารเศรษฐกิจ