นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ 108.92 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.0% จากเดือน ธ.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.16% จากเดือน พ.ย.53 ขณะที่ CPI ทั้งปี 53 ขยายตัว 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ระดับ 104.21 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือน ธ.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.35% จากเดือน พ.ย.53 ขณะที่ Core CPI ทั้งปีขยายตัว 1.0%
สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ 124.46 เพิ่มขึ้น 5.6% จากเดือน ธ.ค.52 แต่ลดลง 0.18% จากเดือน พ.ย.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 99.38 เพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือน ธ.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.36% จากเดือน พ.ย.53
"CPI เดือนธ.ค. ถือว่าขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย และการขยายตัวทั้งปีที่เฉลี่ยที่ 3.3% ก็ถือว่าอยู่ในกรอบที่พาณิชย์คาดการณ์คือ 3.0-3.5%" นายยรรยง กล่าว
นายยรรยง กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 53 ที่สูงขึ้นจากปี 52 อัตรา 3.3% เป็นผลจากในครึ่งปีแรก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้ รัฐบาลปรับลดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในส่วนของค่าน้ำประปาลง ทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าน้ำประปาเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี โดยตัวเลขการบริโภคในประเทศและการส่งออก ขยายตัวดีขึ้น แม้จะเกิดปัญหาการเมืองในประเทศ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. แต่เงินเฟ้อครึ่งปีแรกยังสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
ส่วนครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกเริ่มผันผวน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งไทย แต่จากที่เศรฐกิจไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ แม้ในเดือน ต.ค.จะเกิดอุทกภัยหลายแห่ง แต่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก
โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 53 ที่ 3.3%นั้น ถือว่าอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 3.0-3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วงไตรมาส 4 ของปี 53 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.8%
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 54 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3.2-3.7% หรือเฉลี่ย 3.4% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาสแรกของปี 54 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.2%
ทั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานของราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 78-88 ดอลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ 28-33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงขยายมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน
อย่างไรก็ดี ปี 54 ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการที่มีผลต่อเงินเฟ้อ คือ 1.ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 2.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 3.ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนนโยบายการดูแลราคาสินค้าในปี 54 นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงสิ้นเดือนมี.ค.54 ยกเว้นรายการสินค้าที่มีปัญหาต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบหรือปัญหาสินค้าขาดแคลน กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาให้เป็นรายกรณี