พณ.เปิดตลาดเมล็ดถั่วเหลือง-ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวตามความตกลง AFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้ลงนามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเมล็ดถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว เข้ามาในราชอาณาจักร ตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ. 2553 ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องเปิดตลาดการนำเข้าตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีการกำหนดมาตรการในการนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ เมล็ดถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนที่ออกโดยหน่วยงานของประเทศที่ส่งออก หรือโดยกรมการค้าต่างประเทศแสดงต่อกรมศุลกากรในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร

          อนึ่ง กรมการค้าต่างประเทศจึงออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและออกหนังสือรับรอง แสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับผู้ที่มีสิทธิขอหนังสือรับรองต้องเป็นผู้ที่ไม่อยู่ระหว่างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใด ๆ ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ โดยต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว และยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาสำหรับแต่ละสินค้า ซึ่งหนังสือรับรองสำหรับเมล็ดถั่วเหลืองให้มีอายุ 1 เดือนนับแต่วันออก แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกหนังสือรับรอง ส่วนหนังสือรับรองสำหรับมะพร้าว           เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ให้มีอายุ 1 เดือนนับแต่วันออก แต่ต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองจะต้องรายงานการนำเข้า การใช้ และปริมาณคงเหลือต่อกรมการต่างประเทศ พร้อมหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสลักรายการถูกต้อง ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่นำเข้าสินค้าแต่ละครั้ง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าขาดคุณสมบัติต้องระงับการออกหนังสือรับรองสำหรับการนำเข้าในครั้งต่อ ๆ ไป จนกว่าจะมีการส่งรายงานโดยถูกต้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ