นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่ โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินโครงการจัดทำแผนพัฒนาการชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ (กรอบน้ำ 60 ล้านไร่) ตามแผนหลักการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพเป็นรายโครงการ ประกอบด้วยที่ตั้งและพื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจนในระดับลุ่มน้ำและระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานแยกเป็นรายภาคทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และวิศวกรในพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน ดำเนินการด้านนี้เป็นการเฉพาะซึ่งกรมชลประทานได้มีการดำเนินการมาเป็นลำดับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่4/2553 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553
สำหรับกรอบการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำจะเน้นยุทธศาสตร์ของการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เน้นการพัฒนาและการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีทั้งสภาวะน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำก่อน แล้วจึงจะพิจารณาแนวทางการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำภายในประเทศเป็นอันดับถัดไป โดยมีแผนงาน/โครงการ ตามประเภทและลักษณะของงานชลประทาน ทั้งสิ้น 10 ประเภทโครงการ ร่วมกับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง จำแนกออกได้เป็น 4 แนวทางหลัก ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน ได้แก่ โครงการเหลียวหลัง (การเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการชลประทานเดิม) โครงการชลประทานระดับไร่นา โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และโครงการพัฒนาระบบส่งน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย และประตูระบายน้ำ เพื่อให้มีน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอ และขยายพื้นที่ส่งน้ำเพิ่มขึ้น การเพิ่มศักยภาพ ได้แก่ โครงการโครงข่ายน้ำ หรือการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำและระหว่างประเทศ การบรรเทาภัยจากน้ำ เน้นในเรื่องการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ยังสามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ได้อีกบางส่วน ได้แก่ โครงการแก้มลิง และโครงการระบบระบายน้ำ
ดังนั้น จากแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศไทยอย่างเต็มศักยภาพตามกรอบการพัฒนาชลประทานทุกประเทศและลักษณะโครงการ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 8,789 โครงการ ทำให้มีปริมาณน้ำใช้ที่สามารถควบคุมได้เพิ่มเติมทั้งสิ้นประมาณ 57,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะมีแหล่งน้ำที่สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มเติมประมาณ 26,603 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่ชลประทานทั้งสิ้นประมาณ 34.04 ล้านไร่ โดยใช้วงเงินลงทุนประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนการพัฒนาทั้งหมดจะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำเท่ากับ 102,973 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ ร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำท่าของประเทศ มีพื้นที่ชลประทาน 62.4 ล้านไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศรวมทั้งสิ้นเพียง 28.4 ล้านไร่
สำหรับแผนงานการพัฒนาการชลประทานจะดำเนินการภายใต้กรอบโครงการ 3 ประเภท คือ 1. โครงการชลประทานขนาดเล็กที่จะต้องมีการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรมชลประทานจะเป็นผู้ประสานและแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
2. โครงการที่มีศักยภาพและไม่มีอุปสรรคที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และ 3. โครงการชลประทานในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ต้องศึกษาในเชิงลึก
โดยเฉพาะที่เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่และระดับลุ่มน้ำ โดยจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้น : ปีงบประมาณ 2554 กรมชลประทานได้รับงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างแล้ว 14,692 ล้านบาท ทั้งสิ้นจำนวน 472 แห่ง เมื่อโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุแหล่งเก็บกักน้ำได้ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.85 ล้านไร่ สำหรับปีงบประมาณ 2555 ได้เสนอโครงการชลประทานในทุกประเภท จำนวน 1,542 แห่ง หากโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุแหล่งเก็บกักน้ำได้ 864 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 5.45 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 52,412 ล้านบาท แผนระยะกลาง ปีงบประมาณ 2556-2560 มีแผนพัฒนาโครงการ จำนวน 5,055 แห่ง สามารถเพิ่มความจุแหล่งเก็บกักน้ำ 9,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 8.76 ล้านไร่ แผนระยะยาว ปีงบประมาณ 2561ขึ้นไป มีแผนพัฒนาโครงการ จำนวน 1,996 แห่ง สามารถเพิ่มความจุแหล่งเก็บกักน้ำ 14,183 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 21.54 ล้านไร่ "ก่อนดำเนินการก่อสร้างกรมชลประทานจะได้มีการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน โดยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไปที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ EHIA รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินงานของโครงการที่อาจจะยืดเยื้อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย"
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบโดยเร็วต่อไป