พาณิชย์ เผยการนำเข้าข้าวภายใต้กรอบ AFTA มีผลใช้บังคับแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2011 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปราณี ศิริพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า กระทรวงได้ดำเนินการรองรับการเปิดตลาดนำเข้าข้าวตามพันธกรณีความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการนำข้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ. 2553 และประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและออกหนังสือรับรองการนำเข้าข้าวดังกล่าว โดยมีผลใช้บังคับแล้วหลังจากได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำเข้าข้าวไว้ อาทิเช่น 1) คุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ประกอบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว มีใบอนุญาตประกอบการค้าข้าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังต้องมีแผนการผลิตประจำปีที่แสดงถึงความต้องการใช้และการนำเข้าข้าวเป็นวัตถุดิบทั้งชนิด ปริมาณ และแหล่งข้าวที่ต้องการนำเข้าและสถานที่เก็บข้าว

2) การขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า ผู้มีคุณสมบัติและประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นนำเข้าข้าวให้ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนที่สำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศภายในเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ ของปีที่จะนำเข้าพร้อมเอกสารหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าจะขึ้นทะเบียนไว้เป็นรายปี หากประสงค์จะนำเข้าปีต่อไปก็ขอต่อทะเบียนได้พร้อมกับเอกสารแผนการผลิตประจำปี

กรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต โรงงานและสถานที่เก็บข้าวว่าสอดคล้องกับแผนการผลิตและการใช้ข้าวที่แจ้งไว้หรือไม่ ก่อนสรุปข้อมูลนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนพิจารณาให้ความเป็นชอบเป็นผู้นำเข้า

3) การขอหนังสือรับรองการนำเข้า ให้ยื่นคำร้องขอที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศตามแบบที่กำหนดพร้อมหลักฐานได้แก่ สำเนาหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form D) สำเนาใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือหลักฐานอื่นที่แสดงการรับรองสุขอนามัยพืช สำเนาใบรับรองการกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการรับรองหรือกำหนดปริมาณสารพิษตกค้าง สำเนาใบรับรองว่าเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMOs)

ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาที่กำหนดให้นำเข้ามี 2 ช่วงได้แก่ งวดที่ 1 ให้นำเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม — 31 กรกฎาคม และงวดที่ 2 ให้นำเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม — 31 ตุลาคม

สำหรับการนำเข้าข้าวที่มิใช่เพื่อการค้า อาทิเช่น ข้าวที่นำติดตัวเข้ามาเพื่อใช้เฉพาะตัว นำเข้ามากับยานพาหนะเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้น หรือการนำเข้ามาเพื่อเป็นตัวอย่าง สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณเท่าที่จำเป็นโดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากกรมการค้าต่างประเทศและหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า

4) ด่านนำเข้า ข้าวที่นำเข้าภายใต้ AFTA จะมีการจำกัดให้นำเข้าได้ ๖ ด่าน ซึ่งเป็นด่านที่มีความพร้อมโดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งได้แก่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ด่านศุลกากรหนองคาย จังหวัดหนองคาย ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ด่านศุลกากรระนอง จังหวัดระนอง และ ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร

5) การรายงานการนำเข้า ผู้นำเข้าข้าวภายใต้ AFTA จะต้องรายงานการนำเข้าตามแบบที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนดภายใน 30 วัน นับจากวันนำเข้าในแต่ละครั้งพร้อมหลักฐาน หากไม่รายงานกรมการค้าต่างประเทศจะระงับการออกหนังสือรับรองสำหรับการขอนำเข้าในงวดต่อ ๆ ไปจนกว่าจะมีการรายงานการนำเข้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กำหนด

"ข้าวที่นำเข้ากำหนดให้ใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับมนุษย์เท่านั้น ไม่สามารถนำเข้ามาใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงหรือขายให้ผู้อื่น ต้องเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้ในโรงงานของผู้นำเข้าเท่านั้น การนำเข้ามีมาตรการควบคุมดูแลที่เข้มงวด จึงคาดว่าการเปิดตลาดดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตและการค้าข้าวในประเทศมากนักโดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการประกันรายได้รองรับอยู่แล้ว" นางปราณี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ