นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า วุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เห็นชอบที่จะไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ที่หมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.53 มีผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ GSP จากทุกประเทศที่เคยได้รับสิทธิ GSP รวมถึงประเทศไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ (MFN) สำหรับการนำเข้าไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.54 เป็นต้นไป จนกว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะอนุมัติให้ต่ออายุโครงการ GSP
อย่างไรก็ดี รัฐสภาสหรัฐฯ จะทบทวนการต่ออายุโครงการ GSP อีกครั้งในช่วงต้นปี 54 และหากเห็นชอบการต่ออายุสิทธิ GSP แล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าโดยเสียภาษีอัตรา MFN ก่อนหน้าการอนุมัติฯ สามารถขอคืนภาษีย้อนหลังจากศุลกากรสหรัฐฯ ได้หากว่าเป็นสินค้านำเข้าที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ GSP โดยมีผลย้อนหลังไปถึงการนำเข้าตั้งแต่ 1 ม.ค.54
"เหตุการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในการต่ออายุโครงการ GSP ระหว่างปี 36-44 ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าจะต้องเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการยื่นคำร้องขอคืนภาษีนำเข้าต่อไป" รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว พร้อมระบุว่า กรมการค้าต่างประเทศ จะได้ติดตามผลสรุปจากการพิจารณาทบทวนโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ต่อไปอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ใช้สิทธิ GSP สูงสุด 3 อันดับ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 53 (ม.ค.-ต.ค.) อันดับแรก แองโกลา มูลค่า 3,085 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 16.32% รองลงมา คือ ไทย มูลค่า 3,004 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 15.89% และอันดับสาม อินเดีย มูลค่า 2,858 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 15.12%
โดยในส่วนของสินค้าไทยที่ใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุด ได้แก่ เครื่องประดับทำจากเงิน, ยางเรเดียลรถบรรทุก, ยาง-เรเดียลรถยนต์นั่ง, อาหารปรุงแต่ง, ถุงมือยาง, เตาอบไมไครเวฟ และ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น