วงการห่วงภาวะฟองสบู่หลังราคายางพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์-3 ปท.ผู้ส่งออกจ่อหารือ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 6, 2011 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญยางไทยห่วงเกิดภาวะฟองสบู่ หลังที่ผ่านมาราคายางพุ่งสูงต่อเนื่องจากการเก็งกำไร และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าราคายางจะพุ่งไปสูงสุดที่เท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงยางผลัดใบ มี.ค.-พ.ค.นี้ ที่แน่ ๆ ราคาเฉลี่ยปีนี้คงไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก.แต่คงไปไม่ถึง 200 บาท/กก.เตรียมประชุมร่วม 3 ประเทศหามาตรการช่วยเหลือทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต พร้อมเตรียมตั้งรับภาวะยางล้นตลาดในอนาคตหลังเกษตรกรหันมาปลูกยางมากขึ้น

เมื่อ 14.20 น.สัญญายางเดือน ส.ค.54 ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET)ปรับเพิ่มอยู่ที่ 160.15 บาท/กก.เพิ่มขึ้น 2.50 บาทจากเมื่อวานนี้ปิดที่ 157.65 บาท/ก.ก.จากปัจจัยดีมานด์ซัพพลาย และจากแรงเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า

"ตอนนี้ราคาแพงมาก วันนี้ใน AFET ราคาอาจจะไปแตะ 160 บาท/กก.สำหรับนักลงทุนถือว่าเสี่ยงมากๆ เนื่องจากช่วงนี้เป็นราคาฟองสบู่ ที่ทุกคนคาดว่ายางจะไม่มี แต่คาดว่าผู้ใช้คงจะใช้น้อยลง และคงไม่สามารถยอมรับราคาในระดับนี้ได้ถ้าไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าไม่ได้"นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายหลักชัย กล่าวต่อว่า ราคายางที่สูงมากในขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดจากปัจจัยดีมานด์ซัพพลาย แต่บางส่วนก็เกิดจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุนที่คาดการณ์ว่าราคายางมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้ราคายางแพงมากในขณะนี้เพราะปริมาณผลผลิตมีน้อยทั้งในประเทศและทั่วโลก เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกเจอปัญหาภัยธรรมชาติ ประกอบกับ ยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทำให้คนต่างคาดว่าความต้องการใช้ยางในอนาคตยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง อีกทั้งช่วงปลายไตรมาส 1/54 จะเป็นช่วงยางผลัดใบทำให้ผู้ใช้ต่างเร่งเก็บยางเข้าสต็อกเนื่องจากกลัวสินค้าจะขาด โดยเฉพาะจีนที่เร็วๆนี้จะมีเทศกาลตรุษจีนและมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ทำให้ต้องเร่งกักตุนสินค้าเอาไว้ใช้

อย่างไรก็ตาม นายหลักชัย กล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าราคายางจะพุ่งสูงไปได้อีกแค่ไหน โดยเฉพาะช่วงยางผลัดใบคือประมาณ มี.ค.-พ.ค.ของทุกปี ต้นยางจะพัก ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้ จะไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด สินค้าจะขาดตลาด ราคายางน่าจะพุ่งแรงได้อีก

"ไม่กล้าคาดเดาว่าช่วงผลัดใบราคายางจะพุ่งไปเท่าไหร่ แต่คิดว่าไม่ถึง 200 บาท/กก.แต่เฉลี่ยแล้วปีนี้ราคาคงไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก.แน่ๆ"นายหลักชัย กล่าว

นายหลักชัย กล่าวว่า มองว่าราคายางที่แพงมากในขณะนี้จะทำให้ประเทศผู้ซื้อต่างเริ่มกังวลเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนได้ เพราะไม่อยากปัดภาระไปให้ผู้บริโภค

ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า สถานการณ์ราคายางในขณะนี้ถือว่าต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ผลผลิตยางออกน้อย และความต้องการจากประเทศต่างๆ ยังขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบ เช่น บราซิล หรือประเทศเศรษฐีน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นผู้ใช้ เช่น ผู้ผลิตยางล้อเดือดร้อน เพราะต้นทุนสูงขึ้นมากเกินไป แต่ปัญหาที่ราคาขึ้นมากเพราะราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่เซี่ยงไฮ้ TOCOM ประเทศญี่ปุ่นดันราคาขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ไม่ใช่ผู้ใช้ยางที่แท้จริง

"บรรดานักเก็งกำไรมองว่าของจะขึ้นอีก เหมือนพวกเล่นหุ้น ยอมซื้อแพงวันนี้เพราะรู้ว่าราคาจะขึ้นไปอีก แต่คนที่จะซื้อยางจริงก็เดืออร้อนเพราะต้องซื้อแพง" นายเยี่ยม กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ซื้อคงต้องยอมรับสภาพ ยอมซื้อสินค้าราคาแพง เนื่องจากไม่มีทางเลือก ยอดขายรถยนต์ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง ถ้ายอดขายตก คนอื่นก็แย่งส่วนแบ่งตลาดไปครอง เพราะในตลาดยางล้อรถยนต์มีการแข่งขันกันสูง

นายเยี่ยม กล่าวว่า เวลานี้ราคายางของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ยางแผ่นดิบ 143 บาท/กก. ยางแท่งคือประมาณ 150 บาท/กก.ส่วนยางแผ่น FOB ซึ่งคุณภาพดีกว่ายางแท่ง และไทยเป็นผู้ผลิตรายเดียว ปัจจุบันราคา FOB อยู่ที่ 155 บาท/กก.

ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.54 บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะมีการประชุมกันที่มาเลเซียใน 3 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องแรก หามาตรการทำอย่างไรผู้ใช้ไม่เดือดร้อน ผู้ผลิตก็ไม่เสียหายในระยะยาว เพราะราคายางสูงมากๆ ชาวบ้านเลิกปลูกพืชชนิดอื่นๆ แล้วหันมาปลูกยางกันมากขึ้น จนอีก 6-7 ปียางล้นตลาดราคาจะตกต่ำ

เรื่องที่ 2.การตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เอาเงิน CESS ส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นเงินไว้ประกันรายได้เวลาราคายางตกต่ำ หลักการเดียวกับเงินที่เอามาจ่ายชดเชยราคาน้ำมันดีเซล

เรื่องที่ 3.อย่าให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเร็วเกินไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาในระยะยาว เช่นกรณีที่รัฐบาลจะขยายพื้นที่ปลูกยาง 8 แสนไร่ เห็นด้วยที่จะขยายพื้นที่ปลูก แต่อต้องจำกัดว่าแต่ละปีขยายเท่าไหร่ ไม่ควรขยายเร็วเกินไป ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

นายเยี่ยม คาดว่า การหารือดังกล่าวน่าจะได้ข้อสรุปออกมาบ้าง เพราะ 3 ประเทศปลูกยางประมาณ 70-75% ของการใช้ของโลก หรือราวๆ 6.5 ล้านตัน จากความต้องการใช้ทั้งหมดของโลก 9 ล้านตัน และเราควบคุมพื้นที่ปลูก และมีการกำหนดร่วมกันของ 3 ประเทศในการขายยางไม่ต่ำกว่าราคาที่เราตกลงกันไว้เพื่อไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน

สำหรับปี 54 ความต้องการใช้ยางคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 4-5% ตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตประมาณ 8-9% จากปี 53 ที่เติบโต 10% สหรัฐก็จะโตขึ้น

"ในภาพรวมปีนี้ความต้องการยางยังเพิ่มขึ้น และราคาก็จะยังขึ้น"นายเยี่ยม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ