นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูล ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการจัดทำข้อมูลดัชนีราคา ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร
เนื่องจากเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สศก.และ ธปท.ได้มีการจัดทำข้อมูลในประเด็นดังกล่าวทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ที่มีที่มาจากหลายแห่งอาจคลาดเคลื่อนไปได้ ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลเป็นเอกภาพและมีความความน่าเชื่อถือ สามารถนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเกิดการลงนามความตกลงดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.มีนโยบายให้หน่วยงานผู้กำกับดูแลภาคการผลิตต่างๆ เป็นผู้จัดทำข้อมูลและ/หรือดัชนี ซึ่งในส่วนของข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรได้ไว้วางใจให้ สศก.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูล โดยเฉพาะดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญ และเป็นก้าวแห่งการพัฒนาการจัดทำข้อมูลที่ยั่งยืน รองรับการขยายตัวและปัจจัยเสี่ยงของภาคเกษตรในด้านต่างๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตของภาคเกษตร
นายเฉลิมพร กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเปิดเขตการค้าเสรี เพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจมากขึ้น การมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสนองตอบการใช้งานวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน โดยข้อมูลดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงการวิเคราะห์สภาวการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภาคเกษตรได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การวางมาตรการและการกำหนดนโยบายได้อย่างทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก.กล่าวเพิ่มเติมว่า สศก.ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรของประเทศและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งข้อมูลสารสนเทศการเกษตรที่ สศก.จัดทำ ได้แก่ ข้อมูลปริมาณการผลิต ต้นทุนการผลิต ภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรกร และการใช้ที่ดินทางการเกษตรและราคาสินค้าเกษตร
การจัดทำดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรนั้น สศก.ได้เริ่มจัดทำขึ้นในปี 2547 และการจัดทำในขณะนั้น ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ประกอบด้วย 9 กลุ่มสินค้า คือ พืชอาหารและธัญพืช พืชน้ำมัน เส้นใย ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก ปศุสัตว์ และประมง รวมจำนวน 32 ชนิดสินค้า ขณะที่ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วย 8 หมวดสินค้า ยกเว้น หมวดไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 19 ชนิดสินค้า โดยใช้ปี 2543 เป็นปีฐาน และได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้น
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สศก.ได้มีการประสานความร่วมมือกับธปท.ในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดทำได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการใช้งาน และสามารถสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น
สำหรับดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ปรับปรุงและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ร่วมกันนี้ ประกอบด้วย 9 กลุ่มสินค้า จำนวน 37 ชนิดสินค้า โดยใช้ปี 2548 เป็นปีฐาน ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำและเผยแพร่เป็นรายเดือนและนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบเป็นประจำประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนถัดไป จากนั้นได้นำเสนอในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกวันพุธหลังนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณชนในรูปของข่าวประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรโดยจะเริ่มเผยแพร่ข้อมูลชุดใหม่นี้ตั้งแต่ข้อมูลเดือนมกราคม 2554 เป็นต้นไป