กทช.แจกไลเซ่นส์เคเบิลทีวีงวดแรก 7 ใบ คาดมีขอเพิ่มเพียบตามทิศทางธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 10, 2011 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เปิดเผยว่า มีผู้ประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) ที่ได้รับใบอนุญาตและผ่านขั้นตอนการทดลองแพร่ภาพกระจายเสียงรอบแรกจำนวน 5 ราย 7 ใบอนุญาต จากทั้งหมดที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 814 ใบอนุญาต หรือมีผู้ประกอบกิจการราว 400 รายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตรอบแรกทั้ง 7 รายได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ กทช.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช.พร้อมทั้งมีการทดสอบการส่งสัญญาณกระจายเสียงแล้ว ขณะที่ยังมีผู้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาอีก 58 ใบอนุญาตที่จะต้องมีการทดสอบการส่งสัญญาณกระจายเสียง รวมทั้งที่ผู้ที่รอการอนุญาตอีกว่า 60 ราย

"เราให้ใบอนุญาตชั่วคราวมีอายุ 1 ปี เราจึงไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมรายปี เพราะต้นทุนไม่นิ่ง ..การให้ใบอนุญาตครั้งนี้จะข่วยแก้ปัญหาเรื่องเคเบิลทีวีเถื่อน การกำกับดูแลเนื้อหา รวมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคนมาขอใบอนุญาตเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีกี่ราย แต่ใบอนุญาตหนึ่งครอบคลุม 1 อำเภอ การที่มีผู้ประกอบการมากก็จะได้มีการแข่งขัน" นายพนา กล่าว

นายพนา กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจเคเบิลที่วีเป็นที่นิยม โดยมีผู้ชมประมาณ 5 ล้านครัวเรือน จานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก จำนวน 5 ราย 7 ใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท อ่างทองเคเบิลทีวี จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ละงูเคเบิ้ล ทีวี, บริษั ไทยซิน แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด , ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปราจีนบุรี จำกัด (3 ใบอนุญาต) และ บริษัท อินเตอร์โมบาย ท๊อป เซอร์วิส จำกัด

นายพนา กล่าวว่า กทช.ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องเคเบิลทีวี ที่พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในครั้งนั้นมีผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีจำนวนมากที่ได้ใบอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ได้สิ้นสุดอายุลงแล้ว และมีบริษัทที่ถูกกฎหมายเหลืออยู่เพียง 77 ราย หลังจากนั้นไม่กี่เดือนใบอนุญาตก็ขาดอายุลงกลายเป็นผู้ประกอบการนอกกฎหมายทั้งหมด

ขณะเดียวกัน อำนาจของกรมประชาสัมพันธ์ในการให้ใบอนุญาตเคเบิลทีวีได้สิ้นสุดลง และไม่มีองค์กรใดให้ใบอนุญาตได้ เพราะไม่สามารถจัดตั้ง กสช. ดังนั้น กทช. โดยอนุกรรมการได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นและนำมาสู่การออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 พ.ย.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ