ศูนย์วิจัยกสิกรไทย-TMB มอง 12 ม.ค.นี้กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 10, 2011 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 มาที่ร้อยละ 2.25 ในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 12 ม.ค.54 เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อภายใต้สถานการณ์ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งของการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ด้วยอัตราที่ชะลอลงก็ตาม อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการให้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบน้อยลง เพื่อป้องกันความไม่สมดุลที่อาจจะเกิดขึ้นในบางภาคส่วนด้วย

การส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในที่สุดคงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มปรับขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกัน เช่นเดียวกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากรวมประมาณร้อยละ 0.875-0.1 และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณร้อยละ 0.25-0.27 หลังจากที่ กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมร้อยละ 0.75

อย่างไรก็ดี ขนาดและจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ยังคงต้องขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ถึงแนวนโยบายของทางการในระยะถัดไป มุมมองต่อการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในด้านการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งความเข้มข้นของสภาวะการแข่งขันทั้งระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองและกับคู่แข่งในตลาดสินเชื่อและเงินฝากอื่นๆ เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ จากมุมมองในเชิงที่ค่อนข้างเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เห็นได้จากการตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อน กอปรกับการคาดการณ์ถึงวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่สิ้นสุดลงของตลาดการเงิน ตลอดจนภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อและเงินฝากที่ยังคงเข้มข้นเป็นระยะ ทำให้ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ น่าที่จะทยอยเกิดขึ้นด้วยจังหวะเวลาที่ไม่ล่าช้าไปกว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่าไรนัก ถึงแม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงมีสภาพคล่อง ในระดับสูงประมาณ 2.21 ล้านล้านบาท ณ สิ้น พ.ย.53 ก็ตาม

ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 2.25 ในการประชุมครั้งแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) ซึ่ง กนง. ใช้เป็นกรอบเป้าหมายในการกำหนดนโยบายการเงิน (Inflation Targeting) ให้อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5-3.0 เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 1.4 มาอยู่ที่ระดับกลางของกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นจากหลายเดือนก่อนหน้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 1.1 เท่านั้น โดยเป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงมากในครึ่งแรกของปีที่แล้ว ซึ่งจากการศึกษาของเราพบว่า กลไกการส่งผ่านจากระบบเศรษฐกิจไทยกลับมาสู่ระดับราคา (Price Transmission) จะใช้เวลาประมาณสองไตรมาส

และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำกว่าศูนย์ หากเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศในเอเชีย ไทยเป็นอันดับสามที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบมากที่สุดรองจากจีนและอินเดีย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็อยู่ในระดับต่ำมากนานมากต่อเนื่อง จากการลดดอกเบี้ยในรอบทิศทางดอกเบี้ยขาลงเมื่อปลายปี 51 เป็นร้อยละ 2.75 จาก ร้อยละ 3.75 จนเวลาล่วงเลยมาแล้วสองปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะอยู่ในระดับต่ำมากนานต่อเนื่องเช่นนี้ การขึ้นดอกเบี้ยให้กลับสู่ภาวะปกติเมื่อเศรษฐกิจเติบโตดีจึงเป็นเรื่องของการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ยังประเมินว่า จนถึงสิ้นปี 54 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกปรับขึ้นเป็นร้อยละ 3.00-3.25 หรือ เพิ่มขึ้น 100-125 basis points จากปลายปี 53 โดยหากครั้งแรกปรับขึ้นแล้ว ก็จะเหลือการประชุมอีกเจ็ดครั้งในเดือนมีนาคม เมษายน มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม ตุลาคม และ พฤศจิกายน ซึ่งแนวทางการปรับขึ้นในช่วงใดก็จะต้องพิจารณาแรงกดดันของเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ