นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 54 จะขยายตัวได้ราว 6.7-12% โดยอัตราการขยายตัวที่ระดับ 9.8% มีความเป็นไปได้มากที่สุด คิดเป็นมูลค่าการส่งออกระหว่าง 206,951-217,310 ล้านดอลลาร์ฯ ชะลอลงจากในปี 53 ที่ขยายตัวได้ประมาณ 27.3% ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยที่สำคัญในปี 54 มาจากปัจจัยทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 4.0-4.5% แม้จะมีอัตราที่ชะลอลงจากในปี 53 ก็ตาม ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไปยังตลาดในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย รวมถึงอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2554
แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยจะชะลอลงมากในตลาดหลักดั้งเดิม เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่ประสบทั้งปัญหาเงินฝืด และปัญหาการว่างงาน ปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาของทุกประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีสำหรับการฟื้นฟูการจ้างงานเพื่อกลับไปยังระดับก่อนวิกฤติ
นายอัทธ์ กล่าวถึงดัชนีชี้นำการส่งออก (Export Composite Leading Index: Export CLI) ว่า Export CLI เดือนพ.ย.53 ขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 0.1 อยู่ระดับ 101.0 จาก 100.9 ในเดือนก่อนหน้า คาดการณ์ได้ว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ยังมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วง 3.8 - 9% โดยอัตราขยายตัวที่มีความเป็นไปได้มากสุดอยู่ที่ 7.4% จากในไตรมาส 4/53 ที่ขยายตัวได้ 17.7% ส่วนปัจจัยที่ทำให้คาดว่าการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ เนื่องจากปัจจัยองค์ประกอบทั้งปัจจัยต่างประเทศ และปัจจัยในประเทศส่วนใหญ่ ยังส่งสัญญาณในระดับดีต่อภาคการส่งออกไทย
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ยังประเมินว่า ในปี 54 อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีทิศทางสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ความได้เปรียบในด้านราคาส่งออกลดลง พร้อมคาดว่าถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้อยู่ในระดับ 28.30-30.10 บาท/ดอลลาร์ และสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคก็จะยังคงทำให้การส่งออกขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 54 เมื่อพิจารณาอีกมุมหนึ่งจะพบว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า รวมถึงการผลิตและการขนส่งที่ต้องนำเข้าเชื่อเพลิง
ส่วนกรณีที่ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากที่ประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกว่าช่วงที่ผ่านมา การขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากปัญหาน้ำท่วมในปี 53 และแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 54 อย่างไรก็ดีคาดว่าภายในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50%
ในส่วนของปัจจัยด้านต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น สามารถพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือสินค้าที่ผลิตในประเทศ และสินค้านำเข้า โดยต้นทุนสินค้าในประเทศมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในปี 53 ซึ่งจะเกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตร ด้วยกลไกลตลาดจึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้ ในปี 54
ขณะที่ต้นทุนสินค้านำเข้า ในส่วนนี้เชื่อมโยงกับอัตราแลกเปลี่ยน การที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะส่งผลดีอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสินค้าขั้นกลางในการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงการผลิตและการขนส่งที่ต้องนำเข้าพลังงาน