นักเศรษฐศาสตร์จีนชี้เงินหยวนแข็งค่าไม่ช่วยลดยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐมากนัก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 11, 2011 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนกล่าวว่า การแข็งค่าของเงินหยวน ไม่ได้ช่วยลดยอดขาดดุลการค้าและเพิ่มการสร้างงานของสหรัฐเท่าใดนัก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายหยาว หยาง ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยเศรษฐกิจจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมเรื่อง "China's economy in 2011: Forecast and Analysis from Leading Chinese Economists." ว่า เนื่องจากจีนและสหรัฐเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐจึงไม่ใช่เรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องระดับโลกด้วยเช่นกัน

เมื่อปี 2550 จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ 2.06 แสนล้านดอลลาร์ และยอดเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1.43 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2552 เนื่องจากดีมานด์ในต่างประเทศที่หดตัวลงในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก

แต่นายหยาวชี้ว่า 44% ของยอดเกินดุลการค้านั้นเป็นผลมาจากบริษัทสหรัฐที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศจีน และอีก 20% เป็นผลมาจากบริษัทของประเทศอื่นๆที่เข้ามาทำธุรกิจใจจีน พร้อมกับยกตัวอย่างไอโฟน ซึ่งออกแบบโดยบริษัท แอปเปิล องค์ ของสหรัฐ โดยระบุว่าสินค้าดังกล่าวประกอบขึ้นในประเทศจีน ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐมูลค่าสูงถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2552

นายหยาวกล่าวว่า การค้าของจีนกับสหรัฐส่วนใหญ่นั้นเป็นการค้าต่างตอบแทน ซึ่งอาจจะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของมูลค่าการค้าในระดับทวิภาคี ดังนั้นการแข็งค่าของเงินหยวนอาจจะทำให้ยอดเกินดุลการค้าของจีนสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่า จีนสามารถนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ได้ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ

แม้ว่าจีนจะถูกบีบให้ยกเลิกการส่งออกสินค้าบางรายการเมื่อเงินหยวนแข็งค่า แต่ทางสหรัฐก็ยังคงต้องซื้อสินค้าเหล่านี้จากประเทศอื่นๆ เพราะปกติสหรัฐไม่ได้เป็นผู้ผลิต ด้วยเหตุนี้ การแข็งค่าของเงินหยวนจึงไม่ได้ช่วยให้ยอดขาดดุลการค้าลดลงหรือเพิ่มการสร้างงานแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ