รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เปิดเผยว่า ในปี 53 มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,591 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 52 ที่มี 1,489 ราย หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 7% โดยมีเงินลงทุน 4.47 แสนล้านบาท ลดลง 30% จากปี 52 ที่มีเงินลงทุน 6.38 แสนล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 189,881 คน
สำหรับประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 381 โครงการ รองลงมา คือ ยุโรป 192 โครงการ, สิงคโปร์ 87 โครงการ, สหรัฐอเมริกา 61 โครงการ, ไต้หวัน 46 โครงการ และ ฮ่องกง 27 โครงการ โดยประเภทกิจการที่มีการลงทุนมากสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค รองลงมา คือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อันดับสาม ธุรกิจเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร
แต่หากเป็นประเภทกิจการที่มีเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค เงินลงทุน 1.67 แสนล้านบาท รองลงมา ธุรกิจผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เงินลงทุน 6.7 หมื่นล้านบาท และอันดับสาม ธุรกิจด้านเกษตรกรรม และผลผลิตจากการเกษตร เงินลงทุน 6.61 หมื่นล้านบาท
ส่วนยอดการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 53 รวมทั้งสิ้น 1,566 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 52 ที่มี 1,003 ราย โดยมีเงินลงทุน 4.91 แสนล้านบาท
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ในช่วงปี53 มีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งสิ้น 865 โครงการ เงินลงทุนรวม 236,037 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่มี 788 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนแม้จะปรับลดลง 32.7% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่มีมูลค่าเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น 350,754 ล้านบาท แต่เป็นเพราะโครงการลงทุนจากต่างประเทศในปี 53 ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลาง
ทั้งนี้การลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนประเทศญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนสูงสุด และปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยในปี 53 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นรวม 363 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 104,422 ล้านบาท จำนวนโครงการปรับเพิ่ม 36.4% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 266 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 34.9% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 77,380 ล้านบาท
กิจการที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับแรก เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งจำนวน 156 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 46,616 ล้านบาท รองมาเป็นกลุ่มกิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 66 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 33,296 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์กระดาษ และพลาสติก จำนวน 52 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8,102 ล้านบาท
"แม้ในปี 53 ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาทั้งมาบตาพุด วิกฤติการเมือง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่จากพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาต่างๆ ผ่านไปได้ด้วยดี จึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ มั่นใจว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นในปี 54 จะยังขยายตัวต่อเนื่องหลังจากทิศทางของการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งประเทศไทยจะยังเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้น" นายชัยวุฒิ กล่าว
ส่วนภาพรวมของการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,591 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 447,400 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาท โดยโครงการ ปรับเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มี 1,489 โครงการ ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปรับลดลง 29.8% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 638,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าการลงทุนสูงสุดในรอบ 40 ปี
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ทิศทางของจำนวนโครงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยที่ยังขยายตัว โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกลุ่มกิจการขนาดกลางที่มีมูลค่าเงินลงทุนตั้งแต่ 20-500 ล้านบาท มีจำนวนรวมกันถึง 981 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 131 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในปี 54 นี้ ยังคงต้องจับตามองเนื่องจากยังมีปัจจับลบที่จะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุนของไทย เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม เงินบาทแข็งค่า ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ได้มอบให้บีโอไอเร่งจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเป้าหมายทั้งกลุ่มนักลงทุนเดิม เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป และนักลงทุนเป้าหมายใหม่ เช่น จีน อินเดีย ซึ่งจะมุ่งเน้นทั้งการส่งเสริมการลงทุน 2 ทาง ทั้งการส่งเสริมการลงทุนของไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศมาไทย