In Focusสแกนทิศทางเศรษฐกิจโลกปีกระต่าย จับตาผลกระทบ QE เงินเฟ้อจีน และหนี้ยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 12, 2011 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เพิ่งบอกลาปีเสือไปได้ไม่นาน ปีกระต่ายก็คืบคลานผ่านไปแล้ว 11 วัน วันเวลาช่างผ่านไปไวเหมือนหนังฮอลลีวู้ด แต่บังเอิญนี่เป็นชีวิตจริงที่ไม่อิงนิยาย ราคาข้าวของถีบตัวสูงขึ้นจนน่าตกใจว่าทำไมถือเงินออกไปเท่าเดิมแต่ได้ของกลับมาน้อยลง นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกหลายคนมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2554 กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือการฟื้นตัวที่เชื่องช้าเกินไปของเศรษฐกิจโลก นั่นก็เพราะแต่ละประเทศมีระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน รวมทั้งปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ต่างกันคนละขั้วระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังอกไหม้ไส้ขมกับปัญหาเงินฝืด และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน ที่ปวดหัวกับปัญหาเงินเฟ้อ

ที่หนักไปกว่านั้นคือ ปัญหาหนี้ยุโรปยังคงรุมทึ้งเศรษฐกิจโลกในหลายภาคส่วนและยังคงเป็นปัญหาท้าทายสำหรับปีนี้ด้วย

ฟิลิป ซุทเทิล หัวหน้านักเศรษฐกิจจาก Institute of International Finance กล่าวให้สัมภาณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า สหรัฐมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเผชิญกับปัญหาเงินฝืดแบบเดียวกับญี่ปุ่น หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เหมือนจะส่งสัญญาณว่านับจากนี้รัฐบาลสหรัฐไม่ต้องมานั่งกุมขมับเรื่องเงินเฟ้อเหมือนเมื่อก่อน แต่ควรเอาเวลาไปหาทางไม่ให้ดินแดนเสรีภาพแห่งนี้ต้องเจอกับปัญหาเงินฝืดเหมือนญี่ปุ่นจะดีกว่า เพราะหากพี่เบิ้มอย่างสหรัฐเจอปัญหาเงินฝืดเมื่อใด สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่าญี่ปุ่นหลายเท่าตัว เนื่องจากญี่ปุ่นมีอัตราว่างงานและหนี้ในต่างประเทศน้อยกว่าสหรัฐ

"สหรัฐอาจพบกับปัญหาเงินฝืดและหนี้ในต่างประเทศที่สูงขึ้นไปพร้อมๆกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้สหรัฐตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" ซุทเทิลกล่าว

ซุทเทิลยังกล่าวด้วยว่า วิกฤตหนี้ยุโรปจะยังคงเป็นยาขมหม้อใหญ่ที่ใครก็ไม่อยากดื่มในปีกระต่ายนี้ แม้สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พยายามออกหน้าด้วยการอัดฉีดเงินกู้ให้กับไอร์แลนด์และกรีซ แต่หลังจากนั้นแค่ไม่กี่วัน มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ก็ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของไอร์แลนด์ลงสู่ระดับ Baa1 จาก Aa2 เพราะไม่มั่นใจว่าไอร์แลนด์จะชำระคืนหนี้เงินกู้ไอเอ็มเอฟและอียูได้ตามกำหนด และในขณะนี้สปอตไลท์เริ่มหันไปจับจ้อง สเปน และโปรตุเกส ว่าจะพาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งใครจะอยู่ใครจะไปก็ต้องรอดูผลการประมูลพันธบัตรในสัปดาห์นี้ เพราะหากความต้องการจองซื้อพันธบัตรลดน้อยลง หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปมากขึ้นด้วย

นอกเหนือจากซุทเทิลที่แสดงความกังวลกับปัญหาหนี้ยุโรปแล้ว เอ็ดเวิร์ด เมียร์ นักเศรษฐศาสตร์ของเอ็มเอฟ โกลบอล ยังมองว่า หากสเปนล้มละลาย ก็อาจทำให้สกุลเงินสกุลยูโรถึงคราวอวสาน และจะทำให้การล้มละลายของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย นอกจากนี้ การที่ไอเอ็มเอฟและอียูอัดฉีดเงินช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินในยุโรปนั้น เป็นเพียงการยืดเวลาการล้มละลายออกไปเท่านั้น

การรวมกลุ่มยูโรโซนภายใต้ความแตกต่างของรากฐานทางเศรษฐกิจและการขาดกลไกจัดการกับภาวะไม่สมดุลภายในกลุ่มนี้เอง ทำให้เศรษฐกิจในยูโรโซนออกอาการกระท่อนกระแท่นเมื่อเจอกับปัญหาใหญ่ภายใต้นโยบายที่แตกต่าง ความตกต่ำของสกุลเงินยูโรทำให้คนยุโรปเบื่อหน่ายขนาดไหนก็คงดูได้จากจากผลการเลือกตั้งของเยอรมนีเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2553 เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ชาวเยอรมันกว่า 47% สนับสนุนให้นำเงินดอยช์มาร์กกลับมาใช้ใหม่ และไม่เห็นด้วยกับการนำงบประมาณไปช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาการเงินในยุโรปอย่างกรีซ และประเทศอื่นๆที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาการเงินตามมา แต่ในทางปฏิบัติคงทำได้ยาก เพราะหากจะทำเช่นนั้น เยอรมนีต้องแยกตัวออกจากอียู พร้อมกับแยกเงินทุนสำรอง ทรัพย์สินและหนี้สินต่างๆ ออกจากกัน เพื่อพิมพ์เงินดอยช์มาร์ก และนำกลับมาใช้ในเยอรมนี ซึ่งเป็นขั้นตอนยุ่งยาก

ด้านโรเบิร์ต วอร์ด นักเศรษฐศาสตร์จาก Economist Intelligence Unit แสดงความเห็นว่า ความแตกต่างในการบริหารประเทศระหว่างจีนและสหรัฐจะทำให้การกำหนดทิศทางของระบบการเงินโลกต่างกันไปคนละทิศละทาง เพราะในขณะที่จีนพยายามควบคุมระบบเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัดนั้น สหรัฐยังคงชื่นชอบระบบตลาดแบบเสรีแบบสุดๆ โดยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักกลไกตลาด ความแตกต่างและแปลกแยกเช่นนี้จึงนำมาซึ่งการสงครามค่าเงินระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่บรรดากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพยายามหาทางลดค่าเงินของตนเพื่อจะกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกและแก้วิกฤตเงินฝืด ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดก็เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) เล่นแร่แปรธาตุด้วยการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ ผ่านการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีวงเงินสูงลิ่วถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ หรือที่เรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 2 (QE2) โดยประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ก็ตอบโต้ด้วยการควบคุมค่าเงินของตนไม่ให้แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่อ่อนยวบลง

โรเบิร์ต วอร์ดยังกล่าวด้วยว่า กระบวนการเปลี่ยนถ่ายพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโลกจากมือของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นั้น ก็อาจจะส่งผลให้นาวาเศรษฐกิจปีกระต่ายโซซัดโซเซได้ นอกจากนี้ หากรัฐบาลจีนควบคุมภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และควบคุมยอดการปล่อยเงินกู้อย่างเข้มงวดเกินไป ก็อาจสกัดกั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเองและกระทบชิ่งไปยังประเทศอื่นๆด้วยเช่นกัน

แม้ไอเอ็มเอฟ และวาณิชธนกิจระดับแนวหน้าอย่างโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า จีนมีโอกาสจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกไม่เกินช่วงระยะเวลา 25 ปีข้างหน้า แต่ผลพวงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มจะมีบทบาทน้อยลง ประกอบกับการที่รัฐบาลเดินหน้าใช้มาตรการควบคุมเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ก็อาจทำให้หลายคนที่ฝากความหวังไว้กับจีนว่า จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีกระต่ายต้องผิดหวังได้

ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาในระดับมหภาค แต่ระดับจุลภาคก็มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่น่ากังวลมาที่สุดก็เห็นจะป็นคำเตือนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ว่า ราคาอาหารแพงกลายเป็นประเด็นสำคัญของโลกอีกครั้ง หลังจากภัยธรรมชาติได้ทำลายพื้นที่เกษตรกรรมในหลายประเทศทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา โดย FAO ระบุว่า ราคาอาหารทั่วโลกกำลังเข้าสู่ "เขตอันตราย" และอาจเกิดภาวะ "food price shock"

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวน มนุษยชาติยังคงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นไป เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจโลกเฟื่องฟูเราก็เดินเข้านอกออกในห้างสรรพสินค้า หรือท่องเที่ยวกันใช้เงินกันอย่างไม่อั้น แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว เราก็คงต้องปรับตัวให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แม้ไม่ถึงกับรัดเข็มขัด แต่ก็ควรต้องเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น ไม่อย่างนั้นเราๆ ท่านๆ ก็อาจจะเซ็ง มึน และ (ร้องไห้) โฮกันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ