ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ (12 ม.ค.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาที่ 2.25% ต่อปี โดยมีผลทันที พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น เนื่องจากแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวยังมีอยู่สูง
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยความเสี่ยงสำคัญคือแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุปสงค์ในประเทศที่เร่งขึ้น
เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นการเร่งการผลิตและการใช้จ่ายหลังจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมบรรเทาลง ขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้
การที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวดีกว่าไตรมาสก่อน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ยังคงเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป อาทิ รายได้และการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในเกณฑ์สูง ตลอดจนการกระตุ้นจากนโยบายการคลัง จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 2554 ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันแรงกดดันด้านราคาที่มาจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าจะมีมากขึ้นตามลำดับ ส่วนหนึ่งสะท้อนการที่ผู้ประกอบการได้ชะลอการปรับขึ้นราคามาแล้วระยะหนึ่งจากแนวโน้มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าสู่แนวโน้มปกติ
ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงจากการประชุมครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าในปี 54 จะขยายตัวสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญจากปัญหาการว่างงานเรื้อรังและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกและการบริโภคของเศรษฐกิจประเทศหลักโดยเฉพาะเยอรมนี แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะเช่นเดิม สำหรับเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวดีจากอุปสงค์ในประเทศ และการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศในภูมิภาค
นายไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศขณะนี้ยังบิดเบือน จำเป็นต้องกลับเข้าสู่ระดับปกติ ดังนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นขาขึ้น แรงกดดันต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อในการประชุมครั้งนี้มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนเสถียรภาพด้านอื่นยังไม่เห็นสิ่งผิดปกติ และยังไม่เห็นความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ แต่ธปท.ก็ยังกังวลอยู่เหมือนเดิม
ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ แม้ว่าการประชุม กนง.ครั้งนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วก็ยังติดลบอยู่ ซึ่งอาจจะสะสมความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อและไม่สนับสนุนภาคการออม ประกอบกับราคาน้ำมันและอาหารโลกยังเร่งตัวขึ้น โดยขณะนี้มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและเข้นเงินเดือนข้าราชการ ที่สำคัญต้นทุนราคาสินค้าที่เร่งขึ้นในที่สุดจะกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าต้องปรับราคาสินค้า แม้ขณะนี้ยังได้รับการร้องขอจากภาครัฐให้ตรึงราคาอยู่
ประกอบกับ แรงกระตุ้นด้านการคลังยังมีต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนก็จะยิ่งกดดันการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในอนาคตข้างหน้าด้วย ส่วนนโยบายประชาวิวัฒน์เพิ่งออกมา มีขนาดเม็ดเงินที่ใช้ไม่มากนัก ดังนั้น กนง.จึงมองเป็นเพียงปัจจัยเสริม ไม่ใช่ปัจจัยหลักต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในปี 54 ภาพรวมกระแสเงินโลกทิศทางส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยต่ำในประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเงินไหลออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่สิ่งที่ต่างไปในปีนี้คือความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เงินทะลักเข้ามามาก ถึงจุดหนึ่งเมื่ออิ่มตัวก็จะไหลออก ถ้ามีสิ่งที่มากระทบความเชื่อมั่น ก็ทำให้ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ จะเห็นได้จากช่วง 1-2 วันมีกระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาค ปีนี้เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไม่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียว ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นไป กนง.จะมีการเปิดเผยสัดส่วนการลงคะแนนเสียงของ กนง.เผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดของ กนง.ทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อยต่อการที่จะปรับขึ้นหรือไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยให้ตลาด มีการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าได้ เพื่อเป็นการปรับตัว โดยจะมีการเปิดเผยในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมในแต่ละครั้ง