สศก.แนะเกษตรกรทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสามารถแก้ปัญหายากจนได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 13, 2011 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทำการศึกษารูปแบบการทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ประสบความสำเร็จ ต่อเนื่อง 2 ปี (ปี 2551-2552) เพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรและเสนอแนะรูปแบบการทำฟาร์มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อเป็นตัวอย่างขยายผลแก่เกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกันนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน

จากผลการศึกษาเกษตรกรที่ทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงส่วนใหญ่จะทำงานในฟาร์มของตนเองเป็นหลัก กิจกรรมในฟาร์มของเกษตรกรมีลักษณะผสมผสานระหว่างพืชอายุสั้น พืชอายุยาว สัตว์และประมง สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยในแต่ละปีเกษตรกรมีรายได้เงินสดในการเกษตรเฉลี่ย 246,957 บาท/ครัวเรือน หรือเฉลี่ย 63,160 บาท/คน/ปี สูงเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับรายได้วัดความยากจน (18,948 บาท/คน/ปี) โดยรายได้จากการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 74 ของรายได้เงินสดทั้งหมดครัวเรือน

เมื่อเปรียบเทียบทิศทางการเปลี่ยนแปลงรายได้และเงินออมของครัวเรือนในปีที่ 1 และปีที่ 2 พบว่า เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเพิ่มขึ้น 11,455 บาท/ครัวเรือน และเงินออมเพิ่มขึ้น 40,073 บาท/ครัวเรือน โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการเกษตรเพียงอย่างเดียวก็สามารถนำมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ

ส่วนด้านหนี้สินพบว่า มีลดลงค่อนข้างมาก คือ จากเดิมที่เคยมีหนี้สิน 86,275 บาท/ครัวเรือน ลดลงเหลือ 49,005 บาท/ครัวเรือน สำหรับการใช้ผลผลิตในฟาร์มนำมาบริโภคในครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 35.68 ของมูลค่ารวมของการบริโภคอาหารทั้งหมดของครัวเรือน และในรอบปีมีรายได้กระจายตัวถึง 11 เดือน

กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ เกษตรกร ต้องเป็นผู้มีความขยัน ประหยัด อดออม ใฝ่รู้ กล้าคิด ค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างจุดเด่นของผลผลิตและยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมั่นคง รวมทั้ง มีคุณธรรมในเรื่องความซื่อสัตย์ ทั้งคุณภาพ ราคา และการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องให้แก้ผู้บริโภค

ปัจจัยต่อมา คือ รูปแบบการผลิตหรือกิจกรรมที่เหมาะสมตามขนาดฟาร์มและแรงงานในครัวเรือน เน้นการผลิตที่หลากหลายผสมผสานและเกื้อกูลกัน เพื่อลดรายจ่ายทางการเกษตรรวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตตามความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศและมีการศึกษาการตลาดก่อนดำเนินการผลิต เน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและสามารถเป็นอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน

ปัจจัยสุดท้าย คือ แหล่งน้ำเสริม เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ตลอดปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ