บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกคาดหมายว่าอาจปรับขึ้นอีกประมาณ 0.5% ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 นี้ โดยโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว อาจครอบคลุมถึงทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ (แต่ด้วยขนาดการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่อาจไม่สูงมากนัก) ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ฝากเงิน แต่สำหรับผู้กู้เงินก็คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่คงขยับขึ้นสอดคล้องกันด้วย
"คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่มเติมอีกในช่วงที่เหลือของปี 2554 นี้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนถึง 1 ปี อาจเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกับขนาดการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่ง ณ ขณะนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.50%)
ส่วนโอกาสการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น แม้จะมีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ก็น่าจะมีขนาดไม่เกิน 0.25% อันจะทำให้ขยับเข้าหาระดับ 0.75% ที่เคยเห็นในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 ถึงกุมภาพันธ์ 2552 ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็น่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมด้วยอัตราเร่งที่น่าจะน้อยกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
กระนั้นก็ดี ทิศทางของการแข่งขันด้านราคาดังกล่าว ตั้งอยู่บนเงื่อนไขหลัก อันได้แก่ ความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสินเชื่อ ขณะที่ หากภาพดังกล่าวแตกต่างออกไป ก็อาจมีผลกระทบต่อจังหวะและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงภาวะการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์เงินออมของธนาคารพาณิชย์ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ก็ได้เริ่มทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามในขณะนี้ โดยปรับทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0.5% ครั้งแรกในรอบประมาณ 2 ปี และถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำในครั้งนี้ น่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของ กนง. ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบล่าสุดในวันที่ 12 มกราคม 2554 และความวิตกกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบ ซึ่งอาจบิดเบือนการออมและการลงทุนในระบบ
นอกจากนี้ ก็ยังอาจเป็นผลมาจากกลยุทธ์ที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน หลังจากที่การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษและตั๋วแลกเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราในท้องตลาด มีผลในการดึงเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์แห่งที่เหลือ ท่ามกลางภาวะที่ ผู้มีเงินออมในปัจจุบัน มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าในอดีต