เรกกูเลเตอร์คาดสรุปโครงสร้างค่าเอฟทีงวดใหม่เสร็จภายในเดือน เม.ย.54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 17, 2011 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เรกกูเลเตอร์ คาดสรุปโครงสร้างค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)ใหม่แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.54 เพื่อรองรับโครงการประชาวิวัฒน์ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนใช้ฟรีเป็นการถาวร

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)หรือเรกกูเลเตอร์ กล่าวว่า กกพ.อยู่ระหว่างการศึกษาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล โดยจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มจากผู้ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากมาทดแทน ซึ่งจะมีการจัดเก็บจากส่วนใดบ้างต้องมีการหารือในรายละเอียดก่อน

"ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการถ่ายโอนเงินจากส่วนไหนมาใช้ในการอุดหนุนระหว่างผู้ใช้ไฟบ้านหรือผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม แต่ในหลักการแล้วจะมีการเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยมาใช้อุดหนุนในรูปของค่าเอฟที คิดเป็นเม็ดเงินอุดหนุนต่อเดือนประมาณ 1,500 ล้านบาท" นายกวิน กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้ทันการประชุมพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ซึ่งเป็นงวดของการคิดค่าเอฟทีรอบต่อไป โดยจะเป็นการคำนวณโดยใช้โครงสร้างค่าไฟในปัจจุบันก่อนจนกว่าโครงสร้างค่าไฟใหม่จะแล้วเสร็จในช่วงปลายนี้ก็จะมีการปรับอีกครั้ง

สำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่มองว่าจะเป็นเครื่องมือกลไกเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน หลังจากกองทุนดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.53 และเริ่มจัดเก็บเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ เข้ากองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.นี้เป็นต้นไป แบ่งอัตราการจัดเก็บเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงระหว่างการก่อสร้าง และช่วงที่เริ่มผลิตไฟฟ้าแล้ว

ทั้งนี้ ช่วงระหว่างการก่อสร้างให้มีการจัดเก็บในอัตราปีละ 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ แต่หากเริ่มผลิตไฟฟ้าแล้วให้จัดเก็บตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าในแต่ละเดือน โดยแบ่งเป็นผลิตจากก๊าซธรรมชาติ เก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย น้ำมันเตาและดีเซล 1.5 สตางค์ต่อหน่วย พลังงานลมแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ชีวมวลและเศษวัสดุเหลือใช้ เก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่พลังงานน้ำเก็บ 2 สตางค์ต่อหน่วย รวมแล้วเฉลี่ยการจัดเก็บจากโรงไฟฟ้าทั่วประเทศในปีแรกจะอยู่ที่ 2,100 ล้านบาท ส่วนผู้รับใบอนุญาตรายปัจจุบันจัดส่งเฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น

เงินจากกองทุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือเพิ่มการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง ชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า สั่งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม หรือมีการเลือกปฏิบัติ

ประกอบกับ การนำไปพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทั้งยังส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าและจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ