นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 19- 23 ม.ค.ได้นำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปยังบังคลาเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อขยายตลาดข้าวไทย โดยจะมีการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) และการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทย เพื่อกระตุ้นตลาด เนื่องจากทั้ง 2 ตลาดนี้ เป็นตลาดที่มีโอกาสในการส่งออกข้าวไทยมาก
ในส่วนบังคลาเทศ เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญของโลก และคาดว่าจะนำเข้าข้าวประมาณ 7 แสนตัน โดยในปี 2554 ได้แสดงความสนใจในการนำเข้าข้าวนึ่งจากไทย และก่อนหน้านี้ได้ส่งนาย Kazi Imtiaz Hossain เอกอัครราชทูตบังคลาเทศประจำประเทศไทยมาหารือกับกรมการค้าต่างประเทศในการนำเข้าข้าวแบบจีทูจีแล้ว ซึ่งในเบื้องต้น บังคลาเทศแจ้งจะขอซื้อข้าวนึ่งจากไทยในปริมาณ 2 แสนตัน
สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปัจจุบันเป็นมีการนำเข้าข้าวได้เสรี ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าข้าว และเป็นแหล่งส่งออกข้าวต่อ (Re-export) ไปยังประเทศที่สามในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาประมาณปีละ 5.6 แสนตัน โดยเป็นการนำเข้าจากอินเดียร้อยละ 72 ปากีสถานร้อยละ 21 และไทยร้อยละ 6 โดยขณะนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนโยบายที่จะลดการพึ่งพานำเข้าจากอินเดีย ซึ่งเป็นผลมาจากอินเดียได้มีมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่มิใช่ข้าวบาสมาติ และจะพิจารณานำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นๆ ทดแทน
นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนที่จะเปิดตลาดข้าวในสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าข้าวและข้าวสาลีประมาณ 4 หมื่นตันต่อปี โดยนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 ตัน โดยมัลดีฟส์ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปประมาณปีละ 7 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวระดับบน จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับไทยที่จะไปประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง
"ไทยมีโอกาสขายข้าวได้สูง โดยเฉพาะบังคลาเทศ ที่แสดงความสนใจชัดเจน และได้มีการติดต่อกันล่วงหน้ามาบ้างแล้ว และยังสอดคล้องกับนโยบายในการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ที่จะเน้นการส่งออกข้าวนึ่ง เพราะตลาดมีความต้องการสูง และขายได้ราคาดี ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีโอกาสเช่นเดียวกัน เพราะมีนโยบายชัดเจนที่จะลดการนำเข้าจากอินเดีย จึงเป็นโอกาสดีที่ข้าวไทยจะเพิ่มปริมาณการส่งออกได้"รมว.พาณิชย์ กล่าว