นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนมกราคม 54 ว่า การขยายตัวของแศรษฐกิจในปี 53 ที่สูงถึง 8% จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ในระดับ 3-5% โดยเฉพาะจากการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกแม้จะชะลอตัวลงแต่ยังเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญยังเติบโตได้ดีกว่าคาด
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในปีนี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้จะเร่งตัวเกินกว่ากรอบบนของเป้าหมาย 0.5-3.0% มีมากขึ้น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวถึง 8% จากที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 7.3-8.0% แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเมืองในช่วงต้นปี และเงินบาทจะแข็งค่าในลักษณะผันผวน แต่การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ดี ซึ่งแรงส่งของเศรษฐกิจในปี 53 ที่ขยายตัวได้ดีทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและการส่งออก จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโตได้ถึง 3-5% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในปี 54 ไม่ได้แตกต่างจากปีก่อน แต่ความรุนแรงอาจจะไม่เท่ากัน มองว่ามีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในระยะหลัง ๆ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวดีในไตรมาส 4/53 ทำให้คลายความกังวลไปได้บ้าง
อีกประเด็นหนึ่ง คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.ยังมีความกังวลในเรื่องนี้ แต่จากประสบการณ์ในปี 53 ที่มีเงินไหลเข้ามากและทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว แต่ก็ยังไม่ได้กระทบกับการขยายตัวของการส่งออก และ ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะปีนี้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ แต่ก็คาดหวังว่าน่าจะไม่มีผลทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการเงินการคลังยังเป็นแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการคลัง รวมถึงมาตรการช่วยกระจายรายได้และช่วยเหลือภาคประชาชน ขณะที่นโยบายด้านการเงิน สภาพคล่องในระบบยังสูง อัตราดอกเบี้ยยังต่ำผิดปกติ ดังนั้น สภาพแวดล้อมด้านนโยบายการเงินการคลังยังเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
ขณะที่ปัจจัยด้านการส่งออก ยังเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ในปี 54 ที่สำคัญการบริโภคทั้งผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรและนอกเกษตรยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 53 ประกอบกับ ความเชื่อมั่นในการบริโภคดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะช่วยให้การบริโภคเร่งตัวขึ้นด้วย โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3-5% ในปีนี้
ทางด้านการลงทุน คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 8-10% ในปี 54 เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมอัตราการใช้กำลังการผลิตเริ่มเต็มแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และเหล็ก ประกอบกับ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เห็นว่าจำนวนการขอรับส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้น และความเชื่อมั่นจากผลสำรวจของธปท.จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจมั่นใจมากขึ้น
นายไพบูลย์ กล่าวถึงเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น เศรษฐกิจโลกในปีก่อนขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ น่าจะทำให้การส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่องมาถึงปีนี้ แต่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกีบปีก่อนที่ขยายตัวสูงเป็นพิเศษ โดยปี 53 ขยายตัวถึง 28.5% ขณะที่ธปท.คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 11-14% การนำเข้าจะขยายตัว 15-18% ทำให้ไทยเกินดุลการค้าที่ 8-11 พันล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจาก 15 พันล้านดอลลาร์ในปี 53 เหลือ 10-13 พันล้านดอลลาร์ในปี 54
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ตอนนี้เริ่มเห็นชัดเจนเรื่องแรงกดดัน 4 ด้าน คือ ด้านอุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ธปท.ใช้สมมติฐานที่ 91.3 เหรียญ/บาร์เรลในปีนี้ จาก 81.3 เหรียญ/บาร์เรลในการประมาณการปี 53 ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวชัดเจนขึ้น ประกอบกับ ค่าจ้างแรงงานที่แพงขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้า และขณะนี้มีสินค้าหลายตัวรอปรับขึ้นราคาจากการที่ตรึงราคาไว้ก่อนหน้านี้
ด้านอุปสงค์ จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในปีนี้การเติบโตเศรษฐกิจไทยจะเข้าใกล้ระดับศักยภาพ, ด้านนโยบายภาครัฐ มาตรการต่าง ๆ จะช่วยให้อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น และมีผลต่อเงินเฟ้อ และ ประเด็นสุดท้าย คือ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อล่วงหน้าของประชาชน ซึ่งขณะนี้คาดการณ์กันมากว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นไปก่อนที่จะมีการปรับราคาสินค้า จริง
"ด้วยปัจจัย 4 ปัจจัยนี้จะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินในปี 54 โดยเงินเฟ้อพื้นฐานที่แบงก์ชาติมองไว้ที่ 2-3% มีโอกาสสูงที่จะออกนอกกรอบเป้าหมาย เมื่อเทียบกับการประมาณการครั้งก่อนในเดือน ต.ค.แต่ไม่น่าวิตกว่าจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของแบงก์ชาติ" นายไพบูลย์ กล่าว