นายกรัฐมนตรีเตรียมนำคณะเดินทางไปร่วมการประชุมประจำปี World Economic Forum พร้อมแสดงวิสัยทัศน์การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองของโลกภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ณ เมืองดาวอส ประเทศสมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค.นี้
โดยคณะที่จะร่วมเดินทางไปครั้งนี้ ประกอบด้วย นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ, นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะนักธุรกิจไทย ได้แก่ บมจ.ปตท(PTT), บมจ.การบินไทย(THAI), บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และธนาคารกรุงเทพ มีกำหนดการเดินทางเยือน สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปี World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ระหว่างวันที่ 28 — 31 มกราคม 2554 ดังนี้
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีหัวข้อหลัก คือ "Shared Norms for the New Reality" เพื่อสะท้อนถึงความกังวลของผู้นำโลกถึงความซับซ้อนและความเชื่อมโยงของประเด็นต่างๆ ในโลกภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการเสื่อมถอยของคุณค่าและหลักการที่ประชาคมโลกยึดถือร่วมกันอันนำไปสู่การลดทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อความเป็นผู้นำของรัฐ รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต
การเข้าร่วมประชุมฯ ของนายกรัฐมนตรีในปีนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านการดำเนินนโยบายเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม( Inclusive Growth ) ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยแสดงความเป็นผู้นำและแนวทางของรัฐบาลต่อการเสริมสร้างความเท่าเทียมด้านสังคม และการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน รวมถึงแสดงความเข้มแข็งของภาคเอกชนไทยในด้านที่ไทยเป็นผู้นำในตลาดโลก เนื่องจากปีนี้ภาคเอกชนของไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก WEF โดย 5 บริษัทได้สมัครสมาชิกระดับ Foundation Member และผ่านการอนุมัติแล้ว คือ ปตท, การบินไทย, บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ และ กฟผ. ส่วนธนาคารกรุงเทพ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับภาคเอกชนไทยก้าวสู่เวทีระดับโลก และประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ในปี 2555 ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกของ WEF โดยจะมีนักธุรกิจและสื่อระดับนำของโลกเข้าร่วมกว่า 400 คน ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของประชาคมธุรกิจโลกที่มีต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวเปิดใน Informal Gathering of World Economic Leaders ในหัวข้อ Toward a New Growth Model เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปฏิรูประบบระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ความตระหนักรู้ถึงความร่วมรับผิดชอบร่วมกันต่อผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของตนเอง และการให้ความสำคัญต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานของเศรษฐกิจตนเอง โดยนายกรัฐมนตรีจะยกตัวอย่างนโยบายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมของไทยตามโครงการเร่งรัดปฏิบัติการเพื่อคนไทย,
พร้อมกันนี้ จะร่วมเป็นผู้อภิปรายในการอภิปราย Interactive Session ในหัวข้อ A Social Contract for the 21st Century ซึ่งจะอภิปรายถึงแนวทางปรับปรุงสิทธิและความรับผิดชอบระหว่างรัฐและประชาชน(social contract) ภายหลังสภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกประเด็นที่รัฐจะต้องเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งหัวข้อดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก,
และ แสดงความคิดเห็นในงานเลี้ยงอาหารค่ำ Anti-corruption Dinner หัวข้อ Growing Big, Learning that Small is Beautiful: Doing Business with Integrity in Engines of Growth,
ร่วมการประชุมหัวข้อ Creating Shared Norms:The Century’s Leadership Challenge ซึ่งจะหารือเกี่ยวกับความแตกแยกในสังคมที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นและแนวทางที่ผู้นำประเทศต่างๆ จะสามารถนำทางประชาชนและประชาสังคมในศตวรรษที่ 21 โดยนายกรัฐมนตรีจะเน้นการสร้างการบรรทัดฐานระดับโลกร่วมกัน ได้แก่ การสร้างความร่วมมือระดับโลก การสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากบรรทัดฐานดั้งเดิมของสังคมในศตวรรษที่ 20 ได้แก่ ความเป็นอธิปไตย การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การมุ่งเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้ส่งผลกระทบสู่ศตวรรษ 21 ซึ่งนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ความแตกแยกทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ,
ร่วมการหารือหัวข้อ Business Interaction Group on Thailand โดยมี CEOs ของค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกและบริษัทในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ Renault-Nissan, Audi, Hyundai, Volkswagen และ Michelin โดยนายกรัฐมนตรีจะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย นโยบายของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียน และวิสัยทัศน์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไทย,
ร่วมหารือหัวข้อ The Role of the Group of 20 in Multilateral Systems, ร่วมเป็นผู้นำอภิปรายในหัวข้อ Stabilizing Commodity Price and Supply in a Resource-Constrained World โดยนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกประเด็นการดำเนินการของไทยในการรักษาระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและสินค้าพลังงาน รวมทั้งวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรของไทยเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาของเกษตรกร
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือกับศาสตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร World Economic Forum เพื่อหารือถึงความร่วมมือกับ WEF ในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึง หารือทวิภาคีกับผู้นำภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ บริษัท Dow Chemical, บริษัท Unilever, กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย
ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมฯ ครั้งนี้มีสื่อมวลชนต่างประเทศแสดงความประสงค์ขอสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ CNN, สถานีโทรทัศน์ CNBC Asia, สำนักข่าว BBC, สำนักข่าว Bloomberg, สำนักข่าว Euronews และหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งมีประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย นโยบายสำคัญของรัฐบาลในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ สถานการณ์การเมืองไทยสู่การเลือกตั้ง และ การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงและสร้างความมั่นใจต่อสถานการณ์การเมืองของไทย รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านสื่อมวลชนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญได้อย่างกว้างขวางและน่าเชื่อถือ
นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่นายกฯ จะใช้โอกาสหยิบยกหารือกับผู้นำประเทศต่างๆ ในกาปรระชุมครั้งนี้ คือ ผลกระทบจากการทำมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนของทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยจะส่งสัญญาณผ่านเวทีการประชุม WEF ว่าการออกมาตรการ QE ทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นเมื่อเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อระบบการค้าของหลายประเทศ ดังนั้นหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจึงไม่ควรจะนิ่งเฉย และควรจะร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไข
"เราห่วงมาตรการ QE ไม่ว่าจะรอบ 1 หรือ รอบ 2 เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าเงินทุกประเทศที่ไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน และมีผลต่อการค้าการลงทุน เราคงแค่ส่งสัญญาณว่าต้องหาคำตอบร่วมกันว่านโยบายของประเทศหนึ่งถ้าส่งผลกระทบต่อทั้งโลกได้นั้น ทั้งโลกก็ไม่ควรนั่งนิ่งๆ เราคาดว่าน่าจะมีการหาคำตอบร่วมกันได้" นายเกียรติ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกฯ จะร่วมอภิปรายกับภาคเอกชนและประชาสัมคงต่างๆ ถึงการทำนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งจะเป็นความคืบหน้าต่อเนื่องจากกาประชุมในครั้งก่อน
นายเกียรติ กล่าวต่อว่า การประชุม WEF ที่มีทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนรายใหญ่ของไทยเข้าร่วมในครั้งนี้ คาดหวังว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะแสดงบทบาทที่สำคัญต่อเวทีระดับโลก ตลอดจนการส่งสัญญาณผ่านความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งในด้านของความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเวทีโลกที่มีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกัน ขณะที่ภาคเอกชนของไทยจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลในเชิงลึกในภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจการบิน ธุรกิจการท่องเที่ยว พลังงาน ไฟฟ้า การเงินและการธนาคาร เป็นต้น