ผู้ว่าแบงก์ชาติอินโดฯจี้แบงก์พาณิชย์ลดดบ.เงินกู้เพื่อช่วยกระตุ้นศก.

ข่าวต่างประเทศ Monday January 24, 2011 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดาร์มิน นาซูชัน ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

"ธนาคารพาณิชย์ของอินโดนีเซียเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้าสูงเกินไปเพราะต้องการทำกำไรมากเกินไป ขณะที่ประสิทธิภาพของธนาคารของเราอยู่ในระดับต่ำที่สุดในบรรดา 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งได้แก่ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์" นายดาร์มินกล่าวกับหนังสือพิมพ์จาการ์ต้า โกล๊บ

นอกจากนี้ นายดาร์มินกล่าวว่า สัดส่วนของต้นทุนการดำเนินงานและรายได้ (BOPO) และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในอินโดนีเซียอยู่ที่ 81.6% และ 5.8% ตามลำดับ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิคือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้าของธนาคารและอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารต้องจ่ายให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ นายดาร์มินกล่าวว่า สัดส่วน BOPO ในประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 5 ประเทศ อยู่ระหว่าง 31.7 - 73.1% ขณะ NIM ยืนอยู่ระหว่าง 2.3-4.5%

"ผมให้ความสนใจในเรื่องประสิทธิภาพ และคาดหวังว่าธนาคารพาณิชน์จะสามารถลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิได้ ผมคิดว่าประสิทธิภาพเป็นหัวใจของการลดความซับซ้อนในระบบธนาคาร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการปล่อยกู้และเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้" นายดาร์มินกล่าว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ของธนาคารในอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วน 26.1% ของตัวเลขจีดีพีในปี 2553 ซึ่งเกือบทรงตัวจากปี 2552 ที่ระดับ 25.7% เนื่องบริษัทเอกชนของอินโดนีเซียหันมาใช้เครื่องมือในตลาดทุนมากขึ้น เช่นการออกหุ้นกู้ แทนการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ โดยบริษัทเอกชนสามารถระดมทุนจากการออกหุ้นและหุ้นกู้ได้ราว 280 ล้านล้านรูเปียห์ (3.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2553 หรือเท่ากับ 4.4% ของจีดีพี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ