IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของศก.โลกปีนี้เป็น 4.4% หลังสหรัฐใช้มาตรการกระตุ้นการคลัง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 25, 2011 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็น 4.4% เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนต.ค. อันเนื่องมาจากผลพวงในด้านบวกของมาตรการด้านการคลังที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ไอเอ็มเอฟเปิดเผยรายงาน "World Economic Outlook" ในวันนี้ โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็น 1.6% ในปี 2554 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.5% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2555 ลง 0.2% สู่ระดับ 1.8%

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็น 3.0% ในปี 2554 เพิ่มขึ้น 0.7% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐได้ผ่านกฎหมายกระตุ้นการคลังในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ราว 0.5%

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2555 ลง 0.3% สู่ระดับ 2.7%

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ความตึงเครียดที่เกิดจากปัญหนี้ยุโรปจะทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะชะลอตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนจะขยายตัว 1.5% ในปี 2554 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนต.ค. ส่วนในปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนจะขยายตัว 1.7% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.8%

สำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยรวม จะขยายตัว 6.5% ทั้งในปี 2554 และ 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% ทั้ง 2 ปีดังกล่าว โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก จะขยายตัว 9.6% ในปีนี้ และขยายตัว 9.5% ในปีหน้า ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 8.4% ในปี 2554 และ 8.0% ในปี 2555

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเตือนว่า ความคืบหน้าที่เป็นไปอย่างล่าช้าของแผนการปรับลดการขาดดุลการคลังในระยะกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะชะลอตัว ในทางกลับกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันประเทศกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไป ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกระเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ