ธปท.ย้ำนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน-เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ยึดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าสามารถปรับตัวได้หรือไม่ ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมาจากปัจจัยพิเศษ ทำให้ค่าเงินมีความผันผวนมาก และก่อให้เกิดผลเสียรุนแรง ธปท.ก็พร้อมเข้าแทรกแซงเพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไป

ขณะเดียวกัน ธปท.ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแต่หน้าที่หลักคือการดูแลเสถียรภาพด้านราคา นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และยังยึดมั่นในแนวคิดที่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวได้ตามกลไกตลาด โดยจะไม่เป็นผู้กำหนดระดับที่เหมาะสมของค่าเงินบาท แต่ให้ค่าเงินสามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ไปตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันก็ตระหนักดีว่าในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็นสองขั้วเงินทุนเคลื่อนย้ายจะสามารถผันผวนได้มากกว่าเดิม จึงได้มีแผนเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงดังกล่าว 3 ด้านหลักๆ โดยด้านแรก เป็นแผนเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่างประเทศในระยะยาวของเราเอง ด้วยการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีขั้นตอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก

เช่น การผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆสำหรับคนไทยที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างเสริมให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น โดยมุ่งผลระยะยาวคือการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดการเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของคนไทยบนพื้นฐานระบบการกำกับดูแลที่เหมาะสม และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

ในด้านที่สอง ธปท.จะสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กให้เข้าถึงเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถของภาคเอกชนในการรองรับความผันผวน

"ในปีนี้ความไม่แน่นอนในทิศทางของค่าเงินก็ยังคงมีอยู่จากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว หรือความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศในเอเชียอาจหันมาพึ่งมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนจึงควรอย่างยิ่งที่จะเร่งศึกษาการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินให้พร้อมมากยิ่งขึ้นในปีนี้"นายประสาร กล่าว

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนรุนแรงและรวดเร็วกว่าปกติมากจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แบงก์ชาติก็ได้มีการซักซ้อมเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นแผนที่ 3 คือการเตรียมความพร้อมในด้านมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งมีระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

นายประสาร กล่าวว่า แผนทั้งสามด้านนี้ คงจะเป็นหลักประกันได้ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายทางด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งในแง่การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งในด้านตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพและผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีการป้องกันความเสี่ยง และยังมีเข็มขัดนิรภัย คือการเตรียมความพร้อมด้านมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายไว้รองรับอีกชั้นหนึ่ง ผมคิดว่าแผน ทั้งสามด้านนี้เป็นการรับมือกับปัญหาด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ตรงจุดที่สุด และสอดคล้องกับพันธะกิจหลักของแบงก์ชาติ คือการรักษาความสมดุลและเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยนโยบายสถาบันการเงิน

ส่วนความกังวลว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวมากขึ้นนั้น นายประสาร กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1% ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงเล็กน้อย 0.15-0.2% เนื่องจากตระกร้าสินค้าอุปโภคบริโภคเฉลี่ยมีสินค้านำเข้า และที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าประมาณ 15% ส่วนอีก 85% ผลิตในประเทศ แสดงว่าเงินบาทแข็งค่ามีผลต่อดัชนีผู้บริโภคไม่มาก และในลักษณะเดียวกันหากเงินบาทอ่อนค่า 1% ก็จะมีผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นไม่มากเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ