นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า แนวทางนโยบายในการกำกับดูแลสถาบันการเงินในระยะข้างหน้าอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลักๆ คือ 1. การรักษาความมั่นคง 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และ 3. การให้ความคุ้มครองผู้บริโภค
ประการแรกคือการดูแลให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีความมั่นคง (Micro-prudential) และมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีภาวะผันผวน ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่าระบบสถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคงมาก โดยในปีที่แล้วมีสัดส่วน NPL ที่ต่ำเพียงร้อยละ 3.6 แม้ว่าจะได้มีการขยายสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 11.3
ในด้านความมั่นคงนั้น จึงนับว่าเป็นจุดแข็งที่จำเป็นต้องรักษาไว้ โดย ธปท.จะยังคงให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการสะสมความเสี่ยงมากเกินไปเสียตั้งแต่ต้น ด้วยการดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานสากล และมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่รอบคอบและระมัดระวัง และในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการไม่ประมาทก็จะดูแลให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการดำรงเงินกองทุนและสภาพคล่องเพียงพอ และเหมาะสมภายใต้เกณฑ์กติกาที่สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก เช่น เกณฑ์ Basel III เป็นต้น
ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินนั้น มีมิติที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในระดับมหภาค บทเรียนหนึ่งที่เราได้จากวิกฤตการเงินโลกนั้น คือความสำคัญในการดูแลความเสี่ยงในเชิงระบบ (systemic risk) เพราะเป็นความเสี่ยงที่สามารถส่งผลกระทบรุนแรงได้มาก ธปท.จึงได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างสม่ำเสมอสำหรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมีกระบวนการตรวจสอบที่ช่วยสะท้อนความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินล่วงหน้า (macro-surveillance) เช่น การกระจุกตัวของสินเชื่อความผันแปรในราคาอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น
ส่วนในแง่ปฏิบัตินั้น ประเทศไทยก็นับว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ริเริ่มใช้นโยบาย Macro-prudential ซึ่งคือการกำหนดกฎระเบียบที่ตามปกติแบงก์ชาติใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน มาเป็นเครื่องมือนโยบายเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบขึ้นแต่เนิ่นๆ ตัวอย่างล่าสุดของนโยบายประเภทนี้ที่ ธปท.ได้ดำเนินการแล้ว คือการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมเป็นต้น
"จากมาตรการและแผนรองรับต่างๆที่แบงก์ชาติเตรียมไว้นั้น ผมจึงมั่นใจว่าเรามีความพร้อมเพียงพอ และขอให้ความมั่นใจกับทุกฝ่ายว่า สถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคง พร้อมที่จะรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงินที่จะมีมากขึ้น หรือจะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ ก็จะอยู่ในกรอบการดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม และไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของสถาบันการเงิน"นายประสาร กล่าว
ประการที่สอง ธปท.จะดูแลให้สถาบันการเงินให้บริการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการในการให้บริการเครื่องมือบริหารความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมในการรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินในกระแสโลกใหม่หรือการสนับสนุนให้ธุรกิจ SME และลูกค้าทางการเงินรายย่อย มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น ผ่านการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ
อีกทั้ง ธปท.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีศูนย์ข้อมูล SME เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก นอกจากนี้ จะร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น เช่น การโอนเงินแทนการใช้เช็ค การใช้บัตรเดบิตแทนเงินสดเป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐและเอกชนมีต้นทุนในการชำระเงินลดลงและบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พร้อมกันนั้น ธปท.ได้พัฒนาระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพ (ICAS) เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการขนย้ายเช็ค ธนาคารสามารถขยายเวลารับเช็คจากลูกค้าได้นานขึ้นและลดเวลาการเรียกเก็บให้เหลือ 1 วันทั่วประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 54 และจะขยายไปทั่วประเทศภายในปี 55
และ ประการสุดท้าย คือในมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ได้รับบริการทางการเงินนั้นจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและได้รับบริการที่ดี บทบาทของ ธปท.ดูแลให้สถาบันการเงินให้ข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกค้า เช่นให้ข้อมูลค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าทราบก่อนตัดสินใจใช้บริการ มีการให้ความรู้ทางการเงินด้านต่างๆ แก่ประชาชน
ในขณะที่การเสนอขายผลิตภัณฑ์ต้องมีความเหมาะสมกับลูกค้า ทั้งในด้านความต้องการเชิงธุรกิจและความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของลูกค้า รวมไปถึงการติดตามดูแลหลังการขายอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีโอกาสได้รับประโยชน์โดยตรงจากความเข้มแข็งของระบบการเงินอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิด Inclusive growth อีกทางหนึ่ง